Home ข่าวทั่วไปรอบวัน พลเอกประยุทธ์คนเดียวมีอำนาจสั่งห้ามผู้คนขับรถเข้ากรุงเทพฯ

พลเอกประยุทธ์คนเดียวมีอำนาจสั่งห้ามผู้คนขับรถเข้ากรุงเทพฯ

316
0
SHARE

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าว 22 ม.ค.2562 ว่า ขณะนี้เกิดความเข้าใจผิดว่ากรมอนามัยจะต้องเป็นผู้ออกประกาศในการควบคุมสถานการณ์ หากค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 วิกฤตรุนแรง ซึ่งข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 จะมีในส่วนของมาตรา 9 ที่ระบุว่า เมื่อมีเหตุฉุกเฉินหรือเหตุภยันตรายต่อสาธารณชนอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ หรือภาวะมลพิษที่เกิดจากการแพร่กระจายของมลพิษ ซึ่งหากปล่อยไว้เช่นนั้นจะเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อชีวิต ร่างกายหรือสุขภาพอนามัยของประชาชน หรือก่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐเป็นอันมาก ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งตามที่เห็นสมควร ดังนั้น หากเกิดมลพิษจนเป็นอันตรายต่อสาธารณชน นายกฯ มีอำนาจในการออกประกาศอยู่แล้ว

ส่วนคำถามว่าสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 เมื่อใดจะเกิดภาวะอันตรายวิกฤตต่อสาธารณะ ในการหารือร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2562 มีข้อสรุปว่า ค่าฝุ่น PM2.5 จะต้องเกิน 90ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ต่อเนื่องเป็นเวลา 3 วัน และครอบคลุมพื้นที่เกินครึ่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร (กทม.) จึงจะเข้าข่ายเป็นอันตรายต่อสาธารณะ แล้วใช้อำนาจตามมาตรา 9 ออกประกาศควบคุม ซึ่งอาจมีทั้งการห้ามรถขับรถยนต์ส่วนตัว หรือการปิดโรงเรียน สถานที่ทำงาน จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ส่วนตอนนี้สถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นนั้น เนื่องจากค่าฝุ่น PM2.5 ยังขึ้นๆ ลงๆ และสูงแค่บางจุดของ กทม.และปริมณฑลเท่านั้น มาตรการในขณะนี้จึงอาศัยกฎหมายที่มีอยู่ในการบังคับใช้ เช่น ผู้ว่าฯ กทม.และจังหวัดปริมณฑล ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ออกประกาศห้ามเผาในที่โล่ง หรือการใช้กฎหมายจราจรและขนส่ง ในการควบคุมรถบรรทุกในการเข้าออกเมือง การตรวจจับรถควันดำ เป็นต้น

นักข่าวถาม พื้นที่ที่เกิดค่าฝุ่นสูงซ้ำๆ จะมีเกณฑ์พิจารณาสถานการณ์วิกฤตเพื่อควบคุมเฉพาะพื้นที่หรือไม่ พญ.พรรณพิมล ตอบ ขณะนี้ทราบดีว่า พื้นที่ใดที่เกิดค่าฝุ่น PM2.5 สูงซ้ำๆ ซึ่งมักจะเป็นตามแนวถนนเข้าออก กทม. ที่มีการจราจรหนาแน่นและติดขัด ซึ่งปัญหาการจราจรนี้เป็นสาเหตุของการเกิดฝุ่น PM2.5 ใน กทม.ถึงร้อยละ 60 อย่างไรก็ตาม คงไม่รอให้สถานการณ์ค่าฝุ่น PM2.5 สูงจนวิกฤตถึงขั้นต้องออกมาตรา 9 ก็จะใช้มาตรการที่มีอยู่ในการลดต้นเหตุของการเกิดฝุ่น อย่างจราจรจะรู้ดีว่าพื้นที่ที่เป็นปัญหาอยู่จุดใดก็ต้องไปจัดการจราจรให้ราบรื่นขึ้น หรือตอนนี้รถโดยสารสาธารณะก็อยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนรุ่นของเครื่องยนต์ เพื่อให้การสันดาบดีขึ้น ลดการปล่อยมลพิษลง ส่วนของสาธารณสุขเองก็จะลงไปให้ข้อมูลในการดูแลสุขภาพในพื้นที่เสี่ยงเหล่านี้ เพื่อลดการสัมผัสและผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ให้ได้มากที่สุด เช่น การปิดบ้านเพื่อป้องกันฝุ่นละออง ลดกิจกรรมภายนอกบ้าน หากจำเป็นต้องเดินทางไปทำงาน อาจหาอุปกรณ์ป้องกันในช่วงที่ผ่านเส้นทางที่มีฝุ่นละอองมาก และใช้เวลาสัมผัสให้น้อยที่สุด และเมื่อถึงสถานที่ทำงานค่อยถอดอุปกรณ์ป้องกันออก เป็นต้น

matemnews.com 

22 มกราคม 2562