Home ข่าวทั่วไปรอบวัน ขี่มอไซต์บนทางเท้าโปรดอ่านข่าวนี้หลายๆรอบ

ขี่มอไซต์บนทางเท้าโปรดอ่านข่าวนี้หลายๆรอบ

369
0
SHARE

ผู้พิพากษาศาลแขวงพระนครเหนือ ถ.รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ  ออกนั่งบัลลังค์เมื่อ 10 น.วันที่ 23 ม.ค.2562  อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.8112/2561 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีศาลแขวง 2 (รัชดา) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง “นายภูวดล ศรีสำโรง”  อายุ 23 ปี อาชีพรับ-ส่งเอกสาร หรือ แมสเซ็นเจอร์   ขี่รถจักรยานยนต์ชนเด็กนักเรียนหญิง โรงเรียนบดินทรเดชา 3 บนทางเท้าได้รับบาดเจ็บ เป็นจำเลย ในความผิดฐานผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายและจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390, ขับขี่รถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว อันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน, ขับรถบนทางเท้าโดยไม่มีเหตุสมควร, ขับขี่โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 32, 43 (4) (7) (8), 157, 160 รวม 4 ข้อหา

อัยการบรรยายฟ้อง ระบุพฤติการณ์ความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ย.61 เวลากลางวัน จำเลยขี่รถจยย. ทะเบียน 6 กฎ6283 กทม. ไปตาม ถ.ลาดพร้าว จากทาง ถ.พหลโยธิน มุ่งหน้าไปทาง ซ.ลาดพร้าว 112 ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังที่ต้องมีตามวิสัย   จำเลยขี่รถมาตาม ถ.ลาดพร้าว ด้วยความเร็ว เมื่อไปถึงบริเวณป้ายรถประจำทางใกล้ปาก ซ.ลาดพร้าว 69 แขวงสะพานสอง เขตวังทองหลาง  โดยถนนเส้นนั้นเป็นทางเดินรถที่จัดแบ่งช่องเดินรถไว้ 2 ช่อง และมีทางเท้าอยู่ด้วย แต่จำเลยกลับขี่รถขึ้นบนทางเท้าโดยไม่มีเหตุสมควร และขี่ด้วยความเร็วโดยไม่ให้สัญญาณเตือนคนเดินเท้าให้รู้ตัว อันเป็นการขี่รถโดยประมาทน่าหวาดเสียวที่อาจเกิดอันตรายต่อบุคคลและทรัพย์สิน และไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น  ซึ่งขณะนั้นเด็กนักเรียน ผู้เสียหาย เดินอยู่บนทางเท้าบริเวณป้ายรถเมล์ใกล้ปากซอยลาดพร้าว 69 ถูกเฉี่ยวชนอย่างแรงจนล้มลง ได้รับบาดเจ็บมีอาการปวดที่สะโพก และแผลถลอกที่บริเวณขาทั้งสองข้าง เหตุเกิดที่แขวงสะพานสูง เขตวังทองหลาง กทม.

ต่อมาวันที่ 27 พ.ย.61 เวลา 18.00 น. พนักงานสอบสวน สน.โชคชัย ได้แจ้งข้อกล่าวหาให้จำเลยทราบ และยึดรถจยย. คันเกิดเหตุ ไว้เป็นของกลาง ขณะที่ชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา  และภายหลังเกิดเหตุจำเลยกับผู้เสียหายได้ตกลงชดใช้ค่าเสียหายแล้ว ซึ่งอัยการยังระบุด้วยว่า การขี่รถ จยย. ของจำเลยเป็นการรบกวนความสงบสุข ความปลอดภัยของคนเดินเท้า และการกระทำผิดดังกล่าวเป็นภัยอันตรายแก่บุคคลและทรัพย์สินของผู้อื่น เพื่อเป็นการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำผิดและเพื่อคุ้มครองสังคมและสุจริตชน ขอให้ศาลลงโทษจำเลยสถานหนักด้วย

ศาลประทับรับฟ้องไว้ตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย.61 ซึ่ง “จำเลย” ให้การรับสารภาพ ศาลจึงมีคำสั่งให้ เจ้าหน้าที่คุมประพฤติทำรายงานการสืบเสาะและพินิจ ในการแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติ-ภูมิหลังอายุ อาชีพของจำเลย สภาพความผิดพฤติการณ์แห่งคดี และเหตุอันควรปรานี กรณีการเยียวยาผู้เสียหาย สรุปเป็นรายงานสืบเสาะและพินิจส่งศาลประกอบการพิจารณาพิพากษาต่อไป และกำหนดฟังคำพิพากษาวันที่ 23 ม.ค.2562  โดยนายภูวดล  ได้รับการปล่อยชั่วคราวไปโดยไม่มีหลักประกัน  ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาในห้องพิจารณาคดีตามนัดของศาล

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยแล้ว จึงพิพากษาว่า “จำเลย” มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390, พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43 (4) (7) (8), 157, 160 วรรคสาม  ซึ่งการกระทำของจำเลย เป็นการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษฐานขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย หรือความเดือดร้อนของผู้อื่น ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 160 วรรคสาม ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักสุด ให้จำคุก 2 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยเป็นเวลา 1 เดือน แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขังเป็นเวลา 1 เดือน (กักขังในสถานที่กักขัง ซึ่งไม่ใช่เรือนจำ)

เมื่อ ศาลพิเคราะห์รายงานสืบเสาะและพินิจจำเลยแล้ว เห็นว่า “ทางเท้า” ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 4 (11) คือพื้นที่ ที่ทำไว้สำหรับให้คนเดิน ซึ่งอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างของทาง หรือส่วนที่อยู่ชิดขอบทาง ใช้เป็นที่สำหรับคนเดิน  โดยกฎหมายดังกล่าวห้ามขับรถบริเวณทางเท้าโดยไม่มีเหตุอันสมควร โดยให้คำนึงถึงความปลอดภัยของคนเดินเท้า ซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า การจราจรบนท้องถนนในเขต กทม. ทุกเขตมีความหนาแน่นติดขัดต้องใช้เวลาในการเดินทาง  ดังนั้นการที่ “จำเลย” ขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วบนทางเท้าเพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรที่ติดขัด เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของจำเลยแต่ฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความเดือดร้อนของผู้ใช้ทางเท้า จนเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนผู้เสียหายซึ่งเดินบนทางเท้าได้รับอันตรายแก่กาย อันเป็นการจงใจฝ่าฝืนกฎหมายที่มีไว้คุ้มครองผู้ใช้ทางเท้า และยังเป็นการขาดจิตสำนึกต่อสังคมส่วนรวม อีกทั้งจำเลยเคยกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันกับคดีนี้มาก่อน แต่ไม่ถูกจับดำเนินคดีอาญาพฤติการณ์แห่งคดี จึงเป็นเรื่องร้ายแรง  ซึ่งแม้ “จำเลย” จะมีภาระต้องเลี้ยงดูแลครอบครัว และบริษัทประกันภัยรถจักรยานยนต์คันที่จำเลยขี่ ได้ชดใช้ค่ารักษาพยาบาลให้ผู้เสียหาย และจำเลยกล่าวคำขอโทษผู้เสียหายกับบิดาของผู้เสียหายแล้ว พร้อมแสดงความรับผิดชอบจนเป็นที่พอใจของผู้เสียหายกับบิดาโดยไม่ประสงค์เรียกค่าเสียหายจากจำเลยอีกก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษให้แก่จำเลย

ส่วนรถจักรยานยนต์ของกลางนั้น ถือเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง ศาลจึงมีคำสั่งให้ริบไว้ด้วยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33 (1)

หลังฟังคำพิพากษาแล้ว ทนายความของนายภูวดล ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ ขอปล่อยตัวชั่วคราว  ระหว่างอุทธรณ์คดี   ศาลอนุญาต ตีราคาประกัน 18,000 บาท เมื่อจำเลยวางเงินสดแล้วก็กลับบ้านไป

matemnews.com 

23 มกราคม 2562