Home ข่าวทั่วไปรอบวัน “พลเอกประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช.ผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่?”

“พลเอกประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช.ผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่?”

630
0
SHARE

เฟชบุ้ค Thirachai Phuvanatnaranubala – – ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล https://goo.gl/Gw1N3y

ข่าวระบุว่านายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) จะร้อง กกต.ว่าพลเอกประยุทธ์ขาดคุณสมบัติที่จะเป็นแคนดิเดทให้แก่พรรคพลังประชารัฐ

ข้ออ้างสำคัญคือ

(ก) พรรคลงมติเลือกพล.อ.ประยุทธ์ ก่อนหน้าที่ท่านจะลงนามให้ความยินยอม จึงอาจผิดข้อบังคับพรรค และ

(ข) พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช.ที่มีอำนาจตามมาตรา 44 และได้รับเงินตอบแทนอีกเดือนละ 125,590 บาท จึงอาจเข้าลักษณะเป็นข้าราชการหรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามความในมาตรา 98 (12) และ (15)

ผมไม่รู้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อบังคับพรรค แต่สนใจประเด็นเรื่องการเป็นข้าราชการหรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 160 (6) บัญญัติว่า รัฐมนตรีต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98

ซึ่งมาตรา 98 ห้ามผู้ที่

(12) เป็นข้าราชการซึ่งมีตําแหน่งหรือเงินเดือนประจํานอกจากข้าราชการการเมือง

(15) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

ดังนั้น เนื่องจากพล.อ.ประยุทธ์เกษียณอายุแล้ว จึงเป็นเพียงข้าราชการบำนาญ แต่ปัญหาที่ต้องพิจารณาก็คือ การเป็นหัวหน้า คสช.ถือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่?

ถ้าเป็น ก็อาจจะหมดสิทธิ!

ผมพบว่าศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยที่ 5/2543 (รัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 109 (11))

หมายความว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เรียกชื่ออย่างอื่น ซึ่งมีสถานะ ตำแหน่งหน้าที่ หรือลักษณะงานทำนองเดียวกันกับพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น โดยมีลักษณะดังต่อไปนี้

1. ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย

2. มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย หรือปฏิบัติงานประจำ

3. อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ

4. มีเงินเดือน ค่าตอบแทน ค่าจ้าง ตามกฎหมาย

คสช.นั้นมีการแต่งตั้งตามประกาศคณะปฏิวัติและยืนยันในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 และมีอำนาจใช้มาตรา 44 จึงอาจจะเข้าลักษณะเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

เรื่องนี้เป็นปัญหา เนื่องจากพล.อ.ประยุทธ์ไม่ต้องการมีช่องว่างในการควบคุมอำนาจ จึงไม่ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลและหัวหน้า คสช.

แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญยกเว้นเฉพาะกรณีตำแหน่งข้าราชการทางการเมือง ดังนั้น ท่านอาจจะเจอปัญหาขาดคุณสมบัติจากตำแหน่งหัวหน้า คสช.ก็ได้

ผมจึงขอเชิญชวนให้ผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจช่วยทำให้กระจ่างแก่ผู้อ่านด้วยครับ

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2562
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล 
Facebook Thirachai Phuvanatnaranubala
(เครดิตภาพตามแหล่งที่แสดงชื่อ)
หมายเหตุ: การกล่าวถึงชื่อบุคคลใดมิใช่เป็นการกล่าวหากระทำความผิด แต่เป็นเพื่อประกอบการบรรยายทางวิชาการเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ

matemnews.com 

10 กุมภาพันธ์ 2562