เรื่องจริง แสดงจริง นักวิ่งข้ามเขาหิมาลัย เสี่ยงตาย จนได้มาเป็นภาพยนตร์สารคดี “ผู้ซึ่งหิมาลัยไว้ชีวิต” เพื่อแรงบันดาลใจของนักสู้ ซึ่ง ดร จุ๋ง ชุมพล ครุฑแก้ว นักวิ่งข้ามภูเขาหิมาลัยเป็นคนแรกของเมืองไทย ถ่ายทอดประสบการณ์รวมถึงอุปสรรคต่างๆ ผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้ อีกทั้งใจดี แจกลิขสิทธิ์ฟรี ให้ผู้สนใจได้นำไปถ่ายทอดทุกช่องทาง
ดร.จุ๋ง ชุมพล ครุฑแก้ว บรรจงเขียนลงพ็อกเก็ตบุค “ผู้ซึ่งหิมาลัยไว้ชีวิต” เป็นนักวิ่งสายโหดคนแรกของเมืองไทยที่ชนะใจตัวเองด้วยการวิ่งข้ามเทือกเขาหิมาลัย ความยาว1600 กิโลเมตร ที่ความสูงสะสม 88000เมตร ใช้เวลาถึง48 วันจึงสำเร็จ ซึ่งได้ถ่ายวีดีโอกว่า1000คลิป นำมาร้อยเรียงเป็นภาพยนตร์สารคดีที่แลกด้วยชีวิตของตัวเอง
“ก่อนที่นำมาตัดต่อเป็นภาพยนตร์สารคดี ผมได้เขียนลงพ็อกเก็ต “ผู้ซึ่งหิมาลัยไว้ชีวิต” จำหน่ายที่ศูนย์หนังสือจุฬาและร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป กระแสตอบรับดีมาก จนหลายคนถามว่า น่าจะมีภาพเคลื่อนไหวบ้าง ซึ่งผมเองก็ได้ถ่ายวีดีโอกว่า1000คลิปไว้ แต่ไม่ได้มีการนำมาร้อยเป็นเรื่อง พอดีผมได้คุยกับทีมงานที่เข้ามาช่วยดูแล แนะนำว่าน่าจะนำคลิปต่างๆนำมาร้อยเรียงเรื่องเป็นภาพยนตร์สารคดี ผมคิดดูแล้วมันก็น่าสนใจดีนะ เพราะคนส่วนใหญ่ชอบดูอะไรที่มันเป็นภาพเคลื่อนไหว มันจะดูสนุกกว่ามานั่งอ่านหนังสือ”
ภาพยนตร์เรื่องนี้ให้อะไรกับคนดูบ้าง?
“มันไม่ใช่แค่ภาพยนตร์ของนักวิ่งอย่างเดียว มันให้ข้อคิดต่างๆนาๆเยอะ อุปสรรคต่างๆ ผมมั้กจะพูดว่า การวิ่งชัยชนะไม่ได้อยู่แค่เส้นชัย แต่มันอยู่ที่ใจตัวเองต่างหากที่เราสามารถชนะใจตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องเข้าเส้นชัยคนแรกแล้วแปลว่าประสบความสำเร็จ คนที่เข้าเส้นชัยทุกคนถือว่าประสบความสำเร็จทุกคน นั่นคือชนะใจตัวเอง”
เส้นชัยในการวิ่งเห็นว่าหลายรายการมาก?
“ที่ผ่านมา เคยวิ่งรายการยากๆ มาหลายรายการครับเช่นวิ่งเทรลรอบภูเขาฟูจิระยะทาง162กิโลเมตร สูงสะสม 9000เมตร, รายการที่ฮ่องกงระยะทาง298กิโลเมตร สูงสะสม14500เมตร, วิ่งรอบเทือกเขาแอลป์ 340กิโลเมตรสูงสะสม33500เมตร และล่าสุดก็เทือกเขาหิมาลัย ระยะทาง1600 กิโลเมตร สูง88000เมตรถือว่าเป็นรายการใหญ่ที่สุด”
เป็นคนไทยคนแรกที่พิชิตหิมาลัย?
“อืม เป็นคนแรกที่วิ่งตามแนวเทือกเขาหิมะลัยได้ตลอดทั้งประเทศเนปาลครับ ในความจริงแล้ว ผมไม่ได้ภูมิใจในศักยภาพของตัวเอง แต่ภูมิใจที่ได้มีประสบการณ์ร่วมกับธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ของหิมาลัย ผมไม่ได้พิชิตอะไร นอกจากตัวเอง”
เสี่ยงตายแลกด้วยชีวิต?
“แน่นอนครับการที่ไปวิ่งในระดับนั้น 4พัน ถึง 6พัน เมตรจากระดับน้ำทะเล ความยาว 1600 กิโลเมตร สูงสะสม 88,000เมตร ร่างกายเราต้องเจอกับความท้าทายเยอะมาก แรงดันของอากาศ ความหนาวเย็น ความหิวโหย เพราะแต่ละจุดที่พักมันห่างไกลกันมาก หรือไม่มีเลย ต้องกางเต้นท์เอง ซึ่งบางคนวิ่งไม่ถึงที่พักในแต่ละเมืองก็ต้องพักกลางทาง บางวันก็ต้องอดข้าวอดอาหาร หิมะถล่ม หินถล่ม ปีนเขา ทุกอย่างมันต้องใชัทักษะและความชำนาญทั้งสิ้น ซึ่งประสบการณ์ทั้งหมดมันอยู่ทั้งในพ็อกเก็ตบุค “ผู้ซึ่งหิมาลัยไว้ชีวิต” และภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้”