Home ข่าวทั่วไปรอบวัน กองบัญชาการกองทัพไทยเตือนนักการเมืองอย่างนิ่มๆ

กองบัญชาการกองทัพไทยเตือนนักการเมืองอย่างนิ่มๆ

1546
0
SHARE

ในขณะที่ฝ่ายพรรคการเมืองเดินหน้ารุกไล่กองทัพไทย ทั้งจะลดงบประมาณลง10 %  และจะยกเลิกการเกณฑ์ทหาร  จะยุบกองบัญชาการกองทัพไทย บัดนี้ฝ่ายได้ขยับชี้แจงแล้วอย่างนิ่ม   โดย พล.ต.กฤษณ์ จันทรนิยม โฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย แถลงแก่ผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 21 ก.พ.2562 ว่า

“กองทัพไทยถือกำเนิดคู่กับความเป็นชาติไทย เหล่าทหารหาญได้พลีเลือดเนื้อ  และชีวิต เพื่อพิทักษ์รักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติ รวมทั้งสร้างความผาสุกให้กับพี่น้องประชาชนมาโดยตลอด เดิมที่มีเพียงกองทัพบก ต่อมาจึงได้จัดตั้งกองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ตามลำดับ สำหรับกองบัญชาการกองทัพไทยนั้นได้จัดตั้งขึ้นในภายหลัง ซึ่งบางคนอาจมีคำถามว่า “ทำไมจึงต้องมีกองบัญชาการกองทัพไทย ?”  บทเรียนที่ได้จากการปฏิบัติการทางทหารในยุคใหม่ แสดงให้เห็นว่าการปฏิบัติการทางทหารในปัจจุบันและอนาคตนั้น ยากที่เหล่าทัพใดจะสามารถชนะในสนามรบได้โดยลำพัง เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้การรบเป็นไปด้วยความรวดเร็ว รุนแรง และครอบคลุม หลายมิติ มีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องสนธิขีดความสามารถของทุกเหล่าทัพเข้าด้วยกันอย่างประสานสอดคล้อง เพื่อนำขีดความสามารถของกำลังเหล่าทัพหนึ่งไปชดเชยจุดอ่อนของกำลังอีกเหล่าทัพหนึ่ง อันจะนำไปสู่ความได้เปรียบเหนือฝ่ายตรงข้าม ซึ่งในวงการทหารรู้จักกันดีในนาม “การปฏิบัติการร่วม” หรือ “Joint Operations”  เมื่อมีการปฏิบัติการร่วม ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่วางแผน อำนวยการ สั่งการ และกำกับดูแลการปฏิบัติการร่วมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น กองทัพสหรัฐฯ ก็ได้มีการจัดตั้งคณะเสนาธิการร่วม   (the U.S. Joint Chiefs of Staff) ขึ้นในปี ค.ศ.1942(พ.ศ.2485) และได้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบาย วางแผน และอำนวยการปฏิบัติการของฝ่ายพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2สำหรับประเทศไทยจัดตั้งกองบัญชาการทหารสูงสุดเป็นหน่วยงานถาวร เพื่อทำหน้าที่ควบคุมบังคับบัญชากำลังสามเหล่าทัพใน พ.ศ.2503 ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงเป็นกองบัญชาการกองทัพไทย ทำหน้าที่วางแผน อำนวยการ สั่งการ และกำกับดูแลการปฏิบัติการร่วมของกองทัพไทย จะเห็นได้ว่า การมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่วางแผน อำนวยการ สั่งการ และกำกับดูแล  การปฏิบัติการร่วม ถือเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง กองทัพของประเทศซึ่งมีหน่วยงานในลักษณะนี้อยู่แล้ว ก็ล้วนพยายามพัฒนาให้มีบทบาทและความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น สำหรับประเทศที่ยังไม่มี ก็พยายามจะจัดตั้งขึ้น เพื่อให้ทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ  ดังนั้นสิ่งที่ควรถามจึงไม่ใช่ ทำไมจึงต้องมีกองบัญชาการกองทัพไทย แต่สังคมควรถามว่าทำอย่างไรเราจึงจะช่วยกันพัฒนาและเสริมสร้างให้กองบัญชาการกองทัพไทยสามารถขับเคลื่อนงานด้านการปฏิบัติการร่วมของกองทัพไทยอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้พร้อมเผชิญกับความท้าทายภายใต้สภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อประเทศชาติและลูกหลานไทยของเราทุกคน  ในห้วงสถานการณ์ก่อนการเลือกตั้ง อาจมีการเชื่อมโยงนำกองทัพไปเป็นประเด็นในการหาเสียง จึงขอให้ทุกฝ่ายพิจารณาทำงานการเมืองอย่างสร้างสรรค์โดยไม่สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในสังคม การนำเสนอนโยบายของพรรคการเมืองขอให้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง โดยยึดผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ”

matemnews.com 

21 ก.พ.2562