นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงแก่ผู้สื่อข่าวเมื่อ 1 มี.ค.2562 ประเด็น มีข้อเสนอให้เกษตรกรรายย่อย สามารถร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อขออนุญาตปลูกกัญชาตามระบบของกฎหมายใหม่ได้หรือไม่ ว่า
“ทุกอย่างดำเนินการภายใต้เงื่อนไขของกฎหมาย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7 ) พ.ศ.2562 หากเกษตรกรต้องการร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ก็ต้องมาพิจารณาว่า ทางสภาเกษตรกรฯ มีความร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยหรือหน่วยงานที่ผลิตกัญชาทางการแพทย์หรือไม่ ซึ่งต้องมีโครงการที่ชัดเจน หรือมหาวิทยาลัยที่จะร่วมดำเนินการก็ต้องมีคณะที่เกี่ยวข้อง ทั้งคณะแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ เป็นต้น อย.ได้จัดทำคู่มือในการยื่นขอนิรโทษ ส่วนในเรื่องของหลักเกณฑ์การขออนุญาตก็มีการดำเนินการ ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลประชาพิจารณ์เกี่ยวกับกฎหมายลูกอีก 3 ฉบับ ที่ผ่านมาอย. ได้ระดมความคิดเห็นกฎหมายลูกอีก 3 ฉบับนอกเหนือจากกฎหมายนิรโทษกรรมที่ประกาศใช้แล้ว คือ
1.ร่างกฎกระทรวง การขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา พ.ศ..
2.ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ที่ให้เสพ เพื่อรักษาโรคหรือการศึกษาวิจัยได้ พ.ศ..
3. ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย และหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ที่สามารถปรุงและสั่งจ่ายตำรับยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ได้ พ.ศ..
ทั้งหมดจะรวบรวมและนำเข้าสู่คณะกรรมการยาเสพติดให้โทษพิจารณาในวันที่ 8 มีนาคม 2562 ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงว่า ตนได้รับเชิญในฐานะผู้แทนแพทยสภาเข้าร่วมประชุมในเวลา 13.30 น. ของวันที่ 1 มี.ค. เป็นการประชุมเกี่ยวกับอนุกรรมการพิจารณาข้อบ่งชี้ตำรับยา ทั้งทางการแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย ก็จะมีการพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ แต่ที่ตนจะสอบถามและต้องเสนอในที่ประชุม คือ จากการสอบถามทาง อย.เกี่ยวกับการแจ้งการครอบครองนั้น ในส่วนของแพทย์ผู้ให้ยาที่มีส่วนประกอบของกัญชา เพราะยังมีความไม่ชัดเจนในเรื่องของการจ่ายยาภายหลังนิรโทษกรรม 90 วัน กล่าวคือ หากเลยเวลา 90 วัน และแพทย์หรือผู้จ่ายยาที่ไม่ได้ทำโครงการวิจัย เพียงแต่เก็บข้อมูลการใช้ ประเมินผลการรักษา กลุ่มเหล่านี้จะกลายเป็นการใช้ยานอกระบบ หากจะเข้าระบบถูกต้องก็ต้องเสนอโครงการวิจัย ซึ่งจริงๆ ในพ.ร.บ.ยาเสพติดฉบับใหญ่ระบุว่า ผู้จ่ายสามารถจ่ายยาได้ตามข้อบ่งใช้ ไม่ต้องมีโครงการวิจัย ตรงนี้ต้องสอบถามให้ชัดเจนว่า ตกลงจะให้ทำอย่างไร เพราะไม่เช่นนั้น หลังนิรโทษกรรมมีปัญหาแน่ๆ
matemnews.com
1 มีนาคม 2562