สงกรานต์เยือนถิ่นฐานบ้านเกิดให้การเดินทางครั้งนี้ได้กลิ่นไอวัฒนธรรมอันแสนพิเศษและแปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร
เราเดินทางไปยัง บ้านไฮตาก ตำบลลาดค่าง อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย เพื่อไปพบกับ “ผีบุ้งเต้า” หน้ากากยักษ์ที่ทำจากลูกน้ำเต้า แขวนอยู่บนหัวทุงหรือตุง นำไปถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธนาวบรรพตบนอุทยานแห่งชาติภูเรือในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พร้อมกับการนำต้นดอกผึ้ง ต้นดอกไม้ สิ่งมงคลรับปีใหม่ไทย
ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า “ผีบุ้งเต้า” ที่เป็นหน้ากากยักษ์ทำจากน้ำเต้าแขวนอยู่บนหัวทุงหรือตุง นำไปถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธนาวบรรพตบนอุทยานแห่งชาติภูเรือในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พร้อมกับการนำต้นดอกผึ้ง ต้นดอกไม้ไปสักการะพระพุทธนาวาบรรพต ตั้งแต่ครั้งเมื่อนำพระพุทธรูปมาประดิษฐาน และใช้แขวนบนหัวทุงหรือตุง ชาวบ้านที่นี่เขาเชื่อว่าจะพบแต่ความสำเร็จ ร่ำรวยเงินทองและจะมีแต่ความโชคดี เพราะว่า “น้ำเต้า” คือ ความอุดมสมบูรณ์ ความร่ำรวย “ยักษ์” คือ ทวารบาลป้องกันสิ่ง ชั่วร้ายไม่ให้เข้าใกล้พุทธสถาน “ทุงหรือตุง” คือ ความสำเร็จ และชัยชนะ
สำหรับทุงผีบุ้งเต้าที่ถวายแด่พระพุทธนาวาบรรพตจะถูกแขวนไว้มุมทั้ง 4 ด้าน เพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้ายทุกทิศ โดยหัวทุง จะใส่หน้ากากผีบุ้งเต้า คือลูกน้ำเต้าที่วาดลวดลายยักษ์ ส่วนตัวทุง จะทำจากด้ายเส้นเล็กๆ หลากสีสันนำมาพันต่อกันกับไม้คล้ายๆ กับใยแมงมุม จึงเรียกกันว่าทุงใยแมงมุม ซึ่งขนาดของทุงจะลดหลั่นลงจากใหญ่ไปเล็ก มีตั้งแต่ 5 ดอก 7 ดอก 9 ดอก แล้วแต่ว่าต้องการยาวหรือสั้น ซึ่งจะนิยมทำเป็นเลขคี่ ด้วยความเชื่อของชาวบ้านว่า “คี่ อยู่ คู่ หนี” หมายถึง เลขคี่จะใช้ในงานมงคล ส่วนเลขคี่จะใช้ในงานอัปมงคล และส่วนหางทุง จะนำด้ายมามัดรวมกันเป็นเส้นใหญ่ๆ แล้วตัดให้เป็นดอกเป็นพวงสวยงาม
เมื่อเตรียมทุกอย่างพร้อมถึงคราวเทศกาลรื่นเริงต้อนรับปีใหม่ไทย ชาวบ้านจะทำต้นผึ้ง ต้นดอกไม้และทุง ขึ้นไปถวาย มีนำรถไถ รถไถนาและรถจักรยานยนต์ นำแห่ขึ้นไปขอพรเมื่อความเป็นสิริมงคลตลอดทั้งปี สัมผัสประเพณีวิถีถิ่นได้ที่ บ้านไฮตาก ตำบลลาดค่าง อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย