รัฐบาลเผย SK GLOBAL ENTERTAINMENT บริษัทผู้สร้างภาพยนตร์อเมริกัน ได้สิทธิ์ทำสัญญาผูกมัดถือกรรมสิทธิ์ตลอดชีวิตสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับทีมหมูป่าอะคาเดมี ไม่อนุญาตให้ผู้อื่นสัมภาษณ์เด็กได้โดยตรงโดยไม่ผ่านบริษัท ส่วนเด็ก ๆ มีรายได้ราว 3 ล้านบาทต่อคน
พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและโฆษกคณะกรรมการสื่อสร้างสรรค์ เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่าเมื่อวานนี้ (7 มี.ค.) คณะกรรมการสื่อสร้างสรรค์ ได้ประชุมกับตัวแทนบริษัท 13 ถ้ำหลวง จำกัด และผู้ปกครองของเด็ก ๆ ทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี รวมทั้งโค้ชเอก หรือนายเอกพล จันทะวงษ์
ในเรื่องที่บริษัท SK GLOBAL ENTERTAINMENT จะได้รับลิขสิทธิ์จัดการกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลเรื่องราวของเด็ก ๆ เกี่ยวกับถ้ำหลวงตลอดชีวิตแต่เพียงผู้เดียว โดยเด็กทุกคนและโค้ชเอกจะได้ค่าตอบแทนตามสัญญาอย่างน้อยคนละ 3 ล้านบาท
“ที่ประชุมมีมติเลือกบริษัท SK GLOBAL ENTERTAINMENT ของสหรัฐอเมริกา จัดสร้างภาพยนตร์ของ 13 ชีวิต ทีมหมูป่าอะคาเดมี เพราะเนื้อหาของภาพยนตร์ที่จะสร้างไม่ได้มีแค่ความตื่นเต้น ความบันเทิงอย่างเดียว แต่ยังมีการนำเสนอด้านปฏิบัติการร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและนานาชาติ อีกทั้งยังมีสาระความรู้ สร้างชื่อเสียง และภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศไทยด้วย” พล.ท.วีรชน บอกกับบีบีซีไทย

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรารายงานว่า บริษัท 13 ถ้ำหลวง จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2562 ทุนจดทะเบียน 130,000 บาท โดยมีผู้ประสบภัยทั้ง 13 คนถือหุ้นคนละ 100 หุ้น รวมทั้งสิ้น 1,300 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท มีกรรมการ 8 คน ได้แก่ นายเอกพล จันทะวงษ์ ,นางธนพร พรหมเทพ , นายสมบูรณ์ แก้ววงค์วาร ,นายธนาวุธ วิบูลรุ่งเรือง ,นางพัชนี ทาคำทรง,นายนคร วีระประวัติ , นายศิริศักดิ์ คชพัชรินทร์ และ นายกุลเทพ นฤหล้า
อย่างไรก็ดี โฆษกคณะกรรมการสื่อสร้างสรรค์ยอมรับว่านับจากนี้ผู้ใดก็ตาม รวมทั้งสื่อมวลชนที่ต้องการสัมภาษณ์เด็ก ๆ ทีมหมูป่าทั้งในเชิงพาณิชย์หรือเพื่อเขียนบทความจะต้องติดต่อผ่าน SK GLOBAL ENTERTAINMENT เท่านั้นส่วนคณะกรรมการสื่อสร้างสรรค์จะทำหน้าที่ให้คำปรึกษาในเรื่องประเด็นเพื่อดูว่าควรจะอนุญาตให้สัมภาษณ์หรือไม่
“เราเปิดให้บริษัทยื่นเสนอเข้ามาเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตสื่อที่สร้างสรรค์และเผยแพร่ความเข้าใจอันดีต่อประเทศไทย ก่อนจะมีการตัดสินใจ ทางคณะกรรมการได้พูดคุยและปรึกษากับผู้ปกครองของเด็กทุกคนอยู่ตลอดก่อนตัดสินใจ และถึงแม้ว่าทางบริษัทจะเป็นผู้ดูแลสิทธิ์ในการสัมภาษณ์แต่ทางรัฐบาลไทยก็ยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาร่วมกับบริษัทต่อไป” พล.ท.วีรชน อธิบายเพิ่มเติม

ค่าตอบแทนที่สมาชิกทีมหมูป่าจะได้นั้นตีเป็นตัวเลขกลม ๆ อยู่ที่ 3 ล้านบาท ทั้งนี้ ทางบริษัทแจ้งกับครอบครัวของเด็กทุกคนและโค้ชเอกว่าตัวเลขอาจจะมากหรือน้อยกว่านี้โดยต้องดูจากผลประกอบการหลังจากภาพยนตร์ฉายออกไปแล้วก่อน พล.ท.วีรชน บอกด้วยว่าทางครอบครัวจะนำรายได้ส่วนหนึ่งไปบริจาคเพื่อการกุศล

“ถ้าเทียบกับขนาดของบริษัทและรูปแบบธุรกิจที่เขาทำ เงิน 3 ล้านบาทที่เด็กจะได้รับต่อคนถือว่าน้อยมาก แต่สำหรับในมุมมองของครอบครัว เงินจำนวนนี้มีความหมายกับพวกเขามากเพราะสามารถนำไปทำประโยชน์ต่อครอบครัวและสังคมได้อีก” พล.ท.วีรชน กล่าว
พล.ท.วีรชน บอกด้วยว่าในสัญญาระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่าทางบริษัทไม่อนุญาตให้สมาชิกทีมพูดหรือให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประสบการณ์ในถ้ำตลอดเวลาสัญญาที่ผูกมัดตลอดชีวิตกับผู้อื่น หากไม่ได้ติดต่อผ่านบริษัทที่มีสำนักงานใหญ่ที่นิวยอร์ก โดยผู้นำบริการความบันเทิงทางอินเทอร์เน็ตระดับโลกอย่างเน็ตฟลิกซ์ เป็นเจ้าแรกที่แสดงความจำนงที่จะสร้างภาพยนตร์ร่วมกับ SK GLOBAL ENTERTAINMENT และบริษัท 13 ถ้ำหลวง จำกัด
ด้านบริษัทเน็ตฟลิกซ์ประเทศไทย ระบุในแถลงการณ์ทางอีเมลว่าจะร่วมมือกับบริษัท SK Global Entertainment และบริษัท 13 ถ้ำหลวง จำกัด ถ่ายทอดเรื่องราวอันน่าประทับใจเกี่ยวกับเด็กนักเรียน 12 คน พร้อมโค้ชฟุตบอลที่ติดอยู่ในถ้ำหลวงเป็นเวลานานถึง 18 วัน เมื่อกลางปี 2561 และจะเปิดเผยความคืบหน้าอีกครั้ง