วันที่ 13 มี.ค. มิร์เรอร์ รายงานว่า เฟซบุ๊ก และ อินสตาแกรม สื่อสังคมออนไลน์ ประสบภาวะล่มหลายประเทศทั่วโลกอีกครั้ง ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้โซเชียลมีเดียหลายพันคน และหันมาใช้ทวิตเตอร์กัน
รายงานระบุว่า บรรดาผู้ใช้ในประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา บราซิล เปรู โคลอมเบีย เม็กซิโก และบางส่วนของยุโรป ได้รับผลกระทบดังกล่าว โดยเมื่อพยายามเข้าสู่ระบบ มีข้อความปรากฏว่า เกิดความผิดพลาดบางอย่าง จะดำเนินการซ่อมแซมโดยเร็วที่สุด (Oops… Something went wrong. We’re working on getting it fixed as soon as we can.)
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในประเทศไทย ผู้ใช้บางส่วนก็ได้รับผลกระทบด้วย ขณะที่ล่าสุด เวลา 09.40 น. วันที่ 14 มี.ค.62 ยังไม่สามารถเข้าใช้ เฟสบุ๊ค และ อินสตาแกรมได้ เหล่าโซเชียลจึงหันไปใช้ Line และ Twitter สื่อสารแทน
ขณะที่ มีรายงานว่า สำนักข่าว นิวยอร์ก ไทม์ส รายงานอ้างการเปิดเผยของแหล่งข่าวว่า อัยการกลางสหรัฐฯ เตรียมสอบสวนคดีอาชญากรรมเรื่องเฟซบุ๊ก ทำข้อตกลงแบ่งปันข้อมูลผู้ใช้งานซึ่งรวมถึง ชื่อเพื่อน, เพศ และวันเกิด กับบริษัทเทคโนโลยีหลายสิบเจ้า โดยที่ผู้ใช้ไม่รู้ ทำให้หุ้นของบริษัทลดลง 1.5% ทันทีหลังปิดตลาด จากความกังวลของนักลงทุน
เฟซบุ๊กยอมรับเมื่อเดือนมิถุนายนปีก่อนว่า ให้สิทธิ์เข้าถึงข้อมูลผู้ใช้เป็นพิเศษแก่บริษัทเทคโนโลยีหลายสิบเจ้า แม้จะเคยยืนยันในปี 2558 ว่าพวกเขาจำกัดการกระทำเช่นนี้แล้ว อย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊กยังคงแบ่งปันข้อมูลผู้ใช้กับบริษัทผู้ผลิตฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ 61บริษัท
เฟซบุ๊กถูกตรวจสอบอย่างละเอียดนับตั้งแต่มีการเปิดเผยในเดือนมีนาคม 2561 ว่า บริษัท ‘เคมบริดจ์ อนาลีติกา’ (Cambridge Analytica) ใช้ข้อมูลผู้ใช้งานเฟซบุ๊กไปในทางที่ผิดในช่วงก่อนเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2559 จนมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ต้องเข้าให้การต่อสภาคองเกรสและรัฐสภาสหภาพยุโรป เพื่อตอบคำถามเรื่องวิธีจัดการข้อมูลผู้ใช้ของเฟซบุ๊ก
ทั้งนี้ ยังไม่แน่ชัดว่าการสอบสวนจะเกิดขึ้นเมื่อใด ขณะที่สำนักงานอัยการสหรัฐฯ ในเขตตะวันออกของนิวยอร์ก ปฏิเสธที่จะยืนยันหรือปฏิเสธเรื่องนี้
ล่าสุดเมื่อเวลา 10.30 น. ประเทศไทย สามารถใช้เฟสบุ๊ค และอินสตาแกรม ได้ตามปกติแล้ว