นายอัศม์เดช รัตนวรประเสริฐ อายุ 40 ปี ข้าราชการระดับหัวหน้างาน ในกระทรวงสาธารณสุข ถูกลูกจ้างหยิงแจ้งความตำรวจสภ.นนทบุรี ถูกลวนลามทางเพศหลายครั้ง ตำรวจดำเนินคดีอาญาไปแล้ว จณะที่กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งกรรมการสอบสวน บัดนี้ผลออกมา – ผิด และสั่งตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงแก่ผู้สื่อข่าวเมื่อตอนเช้าวันที่ 23 ส.ค.2560 ว่า คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้เสนอผลการสืบสวนขึ้นมาแล้ว โดยมีข้อสรุปคือ
- ประเด็นข้าราชการชายที่กระทำการลวนลามลูกจ้างสาว คณะกรรมการมีความเห็นให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง เนื่องจากมีพฤติกรรมตามที่ผู้ร้องเรียนกล่าวหาจริง และผู้ถูกกล่าวหายอมรับว่า ได้ดำเนินการในลักษณะหยอกล้อที่ไม่ค่อยเหมาะสม แต่ทำโดยไม่มีเจตนาจะลวนลามเชิงชู้สาวหรือคุกคามทางเพศ แต่คณะกรรมการเห็นว่า เป็นพฤติกรรมที่ไม่สมควรกระทำต่อผู้ใต้บังคับบัญชา และเป็นการกระทำในสถานที่ราชการ และอยู่ในเครื่องแบบข้าราชการ การกระทำดังกล่าวทำให้เกิดความไม่พอใจ อึดอัดใจ อับอาย แต่ต้องจำยอมฝืนทน ไม่กล้าต่อว่า หรือขัดขืนรุนแรง ถือได้ว่าเป็นการคุกคามทางเพศ ตามกฎคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ว่าด้วยการกระทำการอันเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ พ.ศ. 2553 และผู้ถูกกล่าวหามักแสดงพฤติกรรมวางอำนาจในฐานะผู้บังคับบัญชา บางครั้งได้ข่มขู่ผู้ใต้บังคับบัญชาหลายคนในกรณีต่างๆ กันไป มักแสดงกิริยาอาการไม่พอใจ อารมณ์เสียในเวลาผู้ใต้บังคับบัญชาขัดใจหรือไม่ทำสิ่งที่ต้องการ คณะกรรมการจึงมีความเห็นว่า มีมูลอันควรกล่าวหาว่าเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง
- ประเด็นข่าวมีผู้บังคับบัญชาบางคนไกล่เกลี่ยไม่ให้ผู้เสียหายดำเนินคดีอาญานั้น ไม่พบว่าผู้บังคับบัญชาหรือผู้ใดไกล่เกลี่ยให้ผู้เสียหายถอนแจ้งความ แต่ประเด็นที่ผู้บังคับบัญชาทราบเรื่องแล้วไม่ดำเนินการใดๆ พบว่า ผู้บังคับบัญชาดังกล่าวทราบเรื่องมาเป็นระยะเวลาพอสมควร แต่ไม่ได้ทราบจากผู้เสียหาย จึงถือว่าผู้บังคับบัญชาทราบเรื่องแล้ว แต่ไม่ได้มีการแก้ปัญหาอย่างชัดเจน ถูกต้องตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนด คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่า พฤติการณ์เช่นนี้มีมูลอันควรกล่าวหาว่า กระทำความผิดวินัยไม่ร้ายแรง เห็นควรให้ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยไม่ร้ายแรงผู้บังคับบัญชาชั้นต้น หลังจากนี้ จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรงกรณีข้าราชการที่ลวนลาม และคณะกรรมการสอบวินัยไม่ร้ายแรงฯ กรณีผู้บังคับบัญชาที่ไม่ได้ดำเนินการใดๆ โดยอาจเป็นคณะกรรมการชุดเดียวกัน ซึ่งประธานคณะกรรมการสอบสวนนั้น จะมีลำดับบัญชีรายชื่ออยู่ว่าลำดับต่อไปเป็นผู้ใด และมอบนิติกรเป็นเจ้าของสำนวน และจะเชิญกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมเป็นกรรมการ 3 – 5 คน โดยกรอบระยะเวลากำหนดอยู่ที่ 120 วันหลังประธานทราบเรื่อง ซึ่งคณะกรรมการฯ จะดำเนินการตามกฎ ก.พ.อย่างเคร่งครัด สำหรับผลการสอบนั้น หากสรุปออกมาว่าเป็นวินัยร้ายแรง จะมีโทษปลดออก หรือไล่ออก หากปลดออกจะยังได้เงินบำเหน็จบำนาญ และสามารถเข้ารับราชการได้อีก แต่หากไล่ออกจะไม่ได้ทั้งหมด ส่วนการสอบวินัยไม่ร้ายแรงจะมีโทษตั้งแต่ภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน และลดขั้นเงินเดือน แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ถูกสอบจะต้องผิดวินัยหมดหลายครั้งเมื่อสืบพยานมากขึ้นก็อาจไม่มีผิดวินัยก็มี แต่ตนกำชับแล้วว่า ต้องทำให้โปร่งใสที่สุด
Matemnews.com 23 สิงหาคม 2560