Home มาเต็มกัญชา จุฬาฯ จับมือ 10 องค์กร ดึงชมรมใต้ดิน ดันกัญชารักษาโรคถูกกฎหมาย

จุฬาฯ จับมือ 10 องค์กร ดึงชมรมใต้ดิน ดันกัญชารักษาโรคถูกกฎหมาย

456
0
SHARE

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยเครือข่าย 10 หน่วยงานประชุม “เริ่มต้นการวิจัยและสนับสนุนการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์” เสนอดึงชมรมใต้ดินช่วยผลิตยาเพื่อผู้ป่วย เชื่อได้ความชัดเจนหลังนิรโทษกรรม 19 พ.ค.

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยรังสิต โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ร่วมมือกับ 5 มูลนิธิด้านการเกษตร สุขภาพ และผู้บริโภค  ประกอบด้วยมูลนิธิข้าวขวัญ มูลนิธิสุขภาพไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน มูลนิธิชีววิถี พร้อมด้วย อ.เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ซึ่งศึกษาเรื่องการนำสารสกัดกัญชามาใช้รักษาโรค เข้าร่วมการประชุม “เริ่มต้นการวิจัยและสนับสนุนการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์” โอสถศาลา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ

ทั้งนี้ ภายหลังการประชุม ผศ.ภญ.ดร.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยถึงผลการประชุมดังกล่าวว่า ในช่วงเริ่มต้นจะทำตามกระบวนการต่าง ๆ ตามกฎหมาย ในวันที่ 29-30 เมษายน 2562 นี้ อ.เดชา จะต้องเข้าอบรมเป็นหมอพื้นบ้านที่ใช้กัญชาได้ จากนั้นจะมีเก็บข้อมูลการใช้กัญชาต่าง ๆ เพื่อส่งข้อเสนอการทำงานงานวิจัยในมนุษย์ช่วงต้นเดือน พ.ค. นี้

นอกจากนี้จะมีการเสนอตำรับกัญชาของ อ.เดชา ของยื่นเอกสารใช้ของกลางจาก ป.ป.ส. เพื่อนำกัญชามาผลิตน้ำมันกัญชาโดยมีงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานด้านการวิจัย อย่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) และ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยจะมีการวิจัยหลัก ๆ คือเรื่องของสารออกฤทธิ์ในกัญชา พันธุ์ของกัญชา การสังเคราะห์ และองค์ความรู้ตามแนวมานุษยวิทยา ทั้งนี้ องค์ความรู้จากการวิจัยทั้งหมดจะมอบให้สาธารณะ

ทั้งนี้ ผศ.ภญ.ดร.รุ่งเพ็ชร ระบุว่างานวิจัยต่าง ๆ จะเริ่มต้นได้ประมาณเดือนหน้า (พ.ค.62) โดยโครงการทั้งหมดเสร็จสิ้นประมาณ 2-3 เดือน นำร่องโครงการก่อน หารือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.), องค์การอาหารและยา (อ.ย.) กรมการแพทย์แผนไทย ในการทำงานร่วมกันเพื่อให้โครงการเดินหน้าเร็วที่สุด เรื่องกฎหมาย เป็นเรื่องของ อ.ย. และ ป.ป.ส. ต้องรอดูหลังนิรโทษกรรมต่อไป

ด้าน อ.เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ กล่าวเสริมว่า จะให้ตนเองอยู่ในสถานะใดก็สามารถทำได้ทั้งหมดแต่ประโยชน์จะยกให้สังคม พร้อมเปิดเผยว่าการขับเคลื่อนในครั้งนี้มีความตั้งใจหลักคือ อยากให้ผู้ป่วยได้รับยาเร็วและผลิตยาให้มากที่สุด เพราะขณะนี้มีผู้ป่วย 5,000 รายที่ใช้ยาอยู่และต้องขาดยาตั้งแต่ 3 เม.ย. และยังมีกลุ่มผู้ป่วยใหม่ที่รอมารับยาเพิ่มเติม แต่ขณะที่ไม่สามารถทำยาแจกจ่ายได้เพราะต้องเข้ากระบวนการตามกฎหมาย