ที่ห้องประชุม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นนทบุรี เมื่อตอนเช้าวันที่ 26 เม.ย.2562 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการ อย. เป็นประธานร่วม ระหว่างชาวกัญชาใต้ดินกับหน่วยงานรัฐ เพื่อให้เกิดการจับคู่เดินหน้าให้ถูกกฎหมายยาเสพติดฉบับที่ 7 – 19 ก.พ.2562 มีผู้แทนหน่วยงานเข้าร่วมประกอบด้วย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยขอนแก่น
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.)
มหาวิทยาลัยนเรศวร
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
มหาวิทยาลัยมหิดล
สภาเกษตรกรแห่งชาติ
กรมการแพทย์ กรมการแพทย์แผนไทย
การแพทย์ทางเลือก
ใช้เวลาประชุมเกือบ 5 ชั่วโมง เลิกแล้ว นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการ อย.แถลงข่าว
“วันนี้เป็นการหารือในหลักการเบื้องต้น เพื่อให้มีช่องทางประสานและติดต่อกันต่อไป โดยลักษณะของการจับคู่ จะเป็นการจับกันในพื้นที่ ระหว่างสถาบันการศึกษา กลุ่มที่คาดว่ามีกำลังการผลิต และภาคบริการ คือ โรงพยาบาล ขณะนี้มีรูปแบบหรือโมเดลของ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ที่ทำร่วมกับนายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี จากนี้จะส่งให้แต่ละแห่งดูเป็นตัวอย่างในการจับคู่ หรือจะจับคู่ในรูปแบบอื่นก็ได้ ส่วนถ้าจับคู่แล้วมีการวิจัยลักษณะคล้ายๆ กันก็ไม่มีปัญหาอะไร ตรงนี้ยิ่งทำให้ได้ข้อมูลผู้ป่วยที่ใช้ยาอยู่ทั้งประเทศในภาพรวม จะเป็นประโยชน์ในการทำโครงการต่อไป ส่วนผู้ป่วยที่ใช้ยาจากกัญชาอยู่แล้วก็ได้ใช้ต่อไปในรูปแบบของการร่วมวิจัย จากการพูดคุย ทางประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และเครือข่าย พร้อมให้ความร่วมมือในการจับคู่ หากเกิดการจับคู่กับหน่วยงานภาครัฐแล้วก็สามารถมาขออนุญาตได้ แต่หากเป็นหน่วยงานภาครัฐที่ขออนุญาตไปแล้ว ก็สามารถร่วมมือกันได้ทันที โดยทาง อย.จะเป็นพี่เลี้ยงให้ การมาแจ้งครอบครองกัญชาโดยไม่ต้องรับโทษ ขณะนี้มีประมาณ 6 พันกว่าคน จำนวนผู้มาแจ้งครอบครองกัญชาจะเป็นตัวเลขพื้นฐานที่ใช้ในการเตรียมระบบและเชื่อมต่อไปยังพื้นที่ เพื่อเตรียมยาไว้สำหรับคนกลุ่มนี้ การมาแจ้งครอบครองจึงเป็นเรื่องสำคัญมากW
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. แถลงว่า
“ขณะนี้กฎหมายลูกที่สำคัญเหลือร่างกฎกระทรวงสาธารณสุข การขออนุญาตและการอนุญาต ผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะกัญชา อยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ระหว่างนี้จะมีการส่งร่างไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย เพื่อให้รวดเร็วหลังจากผ่าน ครม. และประกาศคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษอีก 2 ฉบับ ต้องรอกฎกระทรวงออกก่อนถึงออกตามได้ ส่วนประกาศกระทรวงสาธารณสุขออกไปครบทั้งหมดแล้ว”
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ แถลงว่า ขณะนี้สภาฯ มีสมาชิกทั่วประเทศกว่า 2,300 คน และมีเครือข่ายต่างๆ ที่เป็นผู้ผลิตกัญชาอีกกว่า 10 เครือข่าย ทั้งในรูปแบบการใช้ต้ม คั้น สกัดและป่น จึงอยากให้ ทุกเครือข่ายดำเนินการขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องโดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกดำเนินการใดๆ เนื่องจากเมื่อขึ้นทะเบียนแล้วมีช่องทางให้ดำเนินการได้อย่างถูกกฎหมาย ด้วยการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่กฎหมายอนุญาตเพื่อดำเนินการในลักษณะการจับคู่เป็นโครงการวิจัย จะส่งผลให้ผู้ผลิตที่เคยดำเนินการแบบลับๆ สามารถผลิตได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยก็จะมียาจากกัญชาใช้ต่อไป ที่สำคัญจะทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานมากขึ้น มีความปลอดภัยในการนำไปใช้ ถือว่าเกิดประโยชน์ในภาพรวมต่อทุกฝ่าย”
ผศ.ภญ.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ แถลงว่า
“การร่วมมือวิจัยน้ำมันกัญชาสูตร อาจารย์เดชา ศิริภัทร อยู่ระหว่างเตรียมเอกสารเพื่อยื่นขออนุญาตคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนได้ทันที หลังจากผ่านคณะกรรมการจริยธรรมฯ แล้ว จึงจะยื่นขอเอกสารขออนุญาตวิจัยจากคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษเป็นลำดับต่อไปได้ หลังจากได้รับอนุญาตแล้วก็ยังมีรายละเอียดอีกเล็กน้อยที่ต้องเตรียม ทั้งผลิตภัณฑ์ ข้อมูลผู้ป่วย กระบวนการที่จะแจก โดยการวิจัยจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของการใช้คนไข้ จะติดตามการใช้จริง กับส่วนที่ทดสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ คาดว่าเร็วที่สุดที่จะเริ่มได้คือ มิ.ย.2562”
matemnews.com
27 เมษายน 2562