Home มาเต็มกัญชา อภ. แถลง “กัญชาเมดิคัล เกรด” ออกดอกแล้ว พร้อมผลิตน้ำมันกัญชา 2,500 ขวด

อภ. แถลง “กัญชาเมดิคัล เกรด” ออกดอกแล้ว พร้อมผลิตน้ำมันกัญชา 2,500 ขวด

569
0
SHARE

เมื่อวันที่ 16 พ.ค.ที่ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม กล่าวในงานแถลงข่าวความคืบหน้าโครงการผลิตสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ “กัญชาเมดิคัลเกรดออกดอกแล้ว” ว่า  ขณะนี้ต้นกัญชามาตรฐานเกรดทางการแพทย์ของ อภ.ที่ปลูกไปเมื่อวันที่ 27ก.พ.ที่ผ่านมาที่ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี จำนวน 140 ต้นนั้น ทั้งหมดเจริญเติบโต เป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติด้านการเพาะปลูกที่ดี และเริ่มออกดอกแล้ว ร้อยละ 98 เป็นตัวเมีย คาดว่าอีกประมาณ 10-12 สัปดาห์ หรือประมาณต้นเดือน ก.ค.นี้ ดอกจะโตเต็มที่ สามารถนำไปผลิตน้ำมันกัญชาหยดใต้ลิ้นได้ ประมาณ 2,500 ขวด ขวดละ 5 ซีซี และจะมีการนำไปใช้ในการวิจัยทดสอบทางคลินิกกับผู้ป่วยที่สมัครเข้าร่วมโครงการกับกรมการแพทย์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ที่มีการกำหนดโปรโตคอล หรือข้อกำหนดร่วมกันในการดำเนินการวิจัยในกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็ง และมีการขออนุญาตคณะกรรมการจริยธรรมวิจัยในคนเรียบร้อยแล้ว

ด้าน นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.อภ. กล่าวว่า ส่วนสำคัญที่จะนำมาผลิตน้ำมันกัญชาหยดใต้ลิ้น คือ ดอก เมื่อโตเต็มที่จะเก็บมาทำให้แห้ง และสกัดด้วยเอทานอลโดยใช้เทคนิคเฉพาะ ระเหยเอทานอลหมดจนเหลือเป็นน้ำมัน หลังจากนั้นก็นำมาเจือจางผลิตเป็นน้ำมันกัญชาหยดใต้ลิ้นที่ทราบความเข้มข้นของสารสกัด THC และ CBD เพื่อให้แพทย์สามารถคำนวณโดสที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนได้ เนื่องจากร่างกายผู้ป่วยแต่ละคนไม่เหมือนกัน โรคประจำตัว โรคที่จะรักษา ก็จะใช้ปริมาณสารสกัดที่แตกต่างกัน รวมถึงยาอื่นที่ใช้อยู่แล้วล้วนมีผลต่อการคำนวณปริมาณกัญชาให้แก่ผู้ป่วยทั้งสิ้น ดังนั้นผู้ที่จะจ่ายสารกัดน้ำมันกัญชาได้ต้องเป็นแพทย์และเภสัชกรที่ผ่านการอบรมการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ท่านั้น โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นผู้ควบคุมการการจ่ายยา คล้ายกับการจ่ายมอร์ฟีน

“การใช้สารสกัดน้ำมันกัญชาทางการแพทย์จะมีการติดตาม โดยคณะทำงานเพื่อวางระบบการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ เบื้องต้นผู้ที่จะใช้สารสกัดน้ำมันกัญชา ได้จะดูจากผู้ป่วยที่มีข้อบ่งใช้ ที่ชัดเจนใน 4 กลุ่มโรคก่อน อาทิ กลุ่มโรคลมชัก อาการคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด บรรเทาอาการปวด ,ปอกปลายประสาทอักเสบ และ การรักษามะเร็งระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง เป็นต้น ซึ่งในวันที่ 21 พ.ค.นี้จะหารือกับกรมการแพทย์ถึงความชัดเจนเรื่องนี้ ส่วนเพส2 จะมีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นอีก 6 เท่า ซึ่งจะปลูกได้ภายในต้นปี 2563 ที่ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี และเฟสที่ 3 จะเป็นการปลูกขนาดใหญ่ที่ อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี แต่จะไม่ใช่การผูกขาดอย่างแน่นอน เพราะขณะนี้ก็มีหลายแห่งที่มีการขออนุญาตปลูกเพื่อการวิจัยทางการแพทย์บ้างแล้ว”ผอ.อภ. กล่าว และว่าขอย้ำว่ากัญชาไม่ใช่ทางเลือกหลักในการรักษาโรค เพราะการรักษาต้องขึ้นอยู่กับแพทย์แผนปัจจุบันก่อน


นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า ในอนาคตหาก อภ.จะมีการจำหน่ายสารสกัดน้ำมันกัญชานั้น ก็อยากให้มั่นใจว่าราคาจะไม่สูงแน่นอน เพราะเท่าที่ทราบ ขณะนี้ในกลุ่มใต้ดินและในต่างประเทศ มีการจำหน่ายในราคาซีซีละประมาณ 100-200 บาท ดังนั้นของ อภ.ก็จะจำหน่ายในราคาไม่สูงไปกว่านี้ แต่ยังไม่ได้มีการคำนวณเรื่องราคาที่ชัดเจน เพราะนโยบายหลักของเรา คือ จะมุ้งเน้นให้ผู้ป่วยเข้าถึงยา และทำการวิจัยทางการแพทย์เป็นหลัก

ด้าน รศ.ดร.วิเชียร กีรตินิจกาล ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพราะปลูกและปรับปรุงสายพันธุ์พืช มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ต้องเข้าใจก่อนว่าเราทำเป็นยาจึงต้องทำให้มีมาตรฐานทั้งปริมาณสาระสำคัญที่เหมาะสมเท่ากันทุกต้น จึงต้องดูแลควบคุมอย่างเข้มข้น ไม่มีการใช้สารเคมีเด็ดขาด ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาสายพันธุ์ไทยให้สามารถควบคุมปริมาณสาระสำคัญได้ และอยู่ระหว่างศึกษาการปลูกในโรงเรือน และการปลูกกลางแจ้งที่มีมาตรฐานเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมเมืองไทยก่อนจะถ่ายทอดให้กับวิสาหกิจชุมชนได้ปลูกกัญชามาตรฐานต่อไป ย้ำว่าเราไม่ได้จะผูกขาด มีเป้าหมายอยากให้วิสาหกิจชุมชนมาร่วมทำอยู่แล้ว แต่การจะไปถึงตรงนั้นได้เราต้องมั่นใจ และมีโมเดลที่ชัดเจน เพราะเรียนว่ากัญชาเป็นพืชอ่อนไหว สามารถดูดซับสารเคมี และโลหะหนักได้ง่ายมาก ขนาดเราควบคุมการปลูกดียังพบโรคที่ไม่เคยพบมาก่อนในโลกแต่ตอนนี้แก้ไขได้แล้ว อีกเรื่องที่สำคัญตอนนี้หลายประเทศเริ่มมีการส่งเสริมคนในประเทศปลูกกัญชามากขึ้นทำให้ราคาสารซีบีดีที่ได้จากกัญชาในท้องตลาดลดลงจากกิโลกรัมละ 1 ล้านบาท เหลือ 5 แสนบาท

กลุ่มผู้ดูแลการปลูกกัญชาครั้งนี้

ข้อมูล  เดลินิวส์

ภาพ Facebook องค์การเภสัชกรรม