
วันที่ 21 พ.ค.62 กรณีที่รัฐบาลสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำบริษัทหัวเว่ย ผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหญ่ของสหรัฐฯ และมีผลให้ผู้ประกอบการในสหรัฐฯ และคู่ค้าต้องหยุดการทำงานร่วมกับหัวเว่ย ทั้งมีความกังวลมากขึ้นเมื่อกูเกิลประกาศระงับการทำธุรกิจกับหัวเว่ย และให้มีผลในทันที ซึ่งเป็นการตัดสิทธิ์การใช้งานระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์และแอพพลิเคชั่นแก่สมาร์ทโฟน ทำให้ไม่ได้รับการอัพเดตด้านความปลอดภัยจากกูเกิล รวมทั้งไม่ได้รับการสนับสนุนด้านเทคนิค

ภาพ: เฉินชิงชิง / GT
ต่อมาหัวเว่ย ออกแถลงการณ์เพื่อสร้างความมั่นใจ ว่ายังคงให้บริการอัพเดตซอฟต์แวร์ด้านความปลอดภัยและบริการหลังการขายเช่นเดิม เดอะ โกลบอล ไทมส์ สื่อภาษาอังกฤษของจีน และสื่อจีนอีกอย่างน้อย 2 แห่งรายงานว่า หัวเว่ยมีการพัฒนาระบบปฏิบัติการของตัวเองมาตั้งแต่เมื่อปี 2555 โดยใช้ชื่อว่าหงเมิ่ง โอเอส (HongMeng OS) และมีการทดสอบเป็นการภายในมาระยะหนึ่งแล้ว โดยมีแผนจะนำมาใช้ในหัวเว่ย เมท 30 ซีรีส์ (Huawei Mate 30 series)
ขณะที่ โรงงานผลิตของหัวเว่ย ยังคงดำเนินการผลิตอย่างต่อเนื่อง พร้อมยังตั้งเป้าด้วยว่า หัวเว่ยจะเป็นแบรนด์สมาร์ทโฟน ที่ใหญ่ที่สุดในโลกภายในปี 2563

คำขวัญที่ปากทางเข้าโรงงานหัวเว่ยในเมืองตงกวนมณฑลกวางตุ้งตอนใต้ของจีน
ภาพ: เฉินชิงชิง / GT
ด้านกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ขยายเวลาผ่อนผันการบังคับใช้มาตรการต่อหัวเว่ย ออกไปอีก 90 วัน และยืนยันคำสั่งเดิมของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ว่า หัวเว่ยเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคง โดยจะอนุญาตเฉพาะการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก การส่งออกซ้ำและการโอนถ่ายสินค้า เพื่อให้สามารถซื้อสินค้าจากบริษัทในอเมริกาไปใช้ในการดูแลรักษาระบบเครือข่าย และการอัพเดตสมาร์ทโฟนเท่านั้น แต่ห้ามนำไปใช้ในการออกผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ และเมื่อพ้นกำหนด 90 วันไปแล้ว ทุกการซื้อขายระหว่างหัวเว่ยกับบริษัทในสหรัฐฯ จะต้องมีการทำหนังสือเพื่อขออนุญาตจากทางการสหรัฐฯ ก่อนเท่านั้น
ข้อมูล Huawei to survive pressure