คณะปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ที่มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน ได้ประชุมนัดแรกที่ บก.กองทัพไทย ถนนแจ้งวัฒนะ เมื่อตอนเช้าวันที่ 12 ก.ค.2560 หลังเลิกประชุมพล.อ.บุญสร้าง แถลงข่าวแก่สื่อมวลชนที่มาติดตามข่าวนี้จำนวนมาก ว่า
ในการประชุมคัร้งแรกนี้ เป็นการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ และ กำหนดกรอบเวลา ในการทำงาน คือยึด ขั้นตอน 2 ,3 ,4 แล้วแบ่งเป็นการปฏิบัติงานของคณะกรรมการออกเป็น 5 คณะประกอบด้วย
1.คณะอนุกรรมการด้านการบริหารงานบุคคล มีตนเป็นประธาน เน้นงานคณะนี้เป็นสำคัญ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งโยกย้าย จะทำให้แล้วเสร็จวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ขอยืนยันว่าเป็นเพียงการสร้างระบบการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ยังไม่มีผลกับการโยกย้ายในปีนี้ จะบังคับใช้ในปี 2561 โดยจะออกมาเป็นกฎหมาย ส่วนจะมีการระบุถึงหลักความอาวุโส ผลการทำงาน จึงจะไปดำรงตำแหน่งใดๆได้ ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ให้รอคณะอนุกรรมการฯพูดคุยกันก่อน
2.คณะอนุกรรมการด้านการบังคับใช้กฎหมายและระบบการสอบสวนคดีอาญา มี “นายธานิศ เกศวพิทักษ์” อดีตรองประธานศาลฎีกาเป็นประธาน รับผิดชอบในส่วนการแยกงานสืบสวนสอบสวน
3.คณะอนุกรรมการด้านหน้าที่อำนาจและภารกิจของตำรวจ มี “นายมนุชญ์ วัฒนโกเมร” อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน
4.คณะอนุกรรมการด้านรับฟังความคิดเห็น มี “พล.อ.อ. อิทธิพร ศุภวงศ์” อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศเป็นประธาน จะเริ่มทำงานตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไป จนครบ 9 เดือน โดยเปิดรับข้อมูลทุกช่องทาง
5.คณะอนุกรรมการ ด้านวิชาการมี “ศ.ดร.ศุภชัย ยาวะประภาษ” อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธาน และ ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำหน้าที่เป็นโฆษกคณะกรรมการ
คณะกรรมการปฏิรูป จะเข้าไปเป็นคณะอนุกรรมการในแต่ละคณะตามความสมัครใจของแต่ละคน ส่วนอนุกรรมการท่านอื่นๆ และเลขานุการของคณะอนุกรรมการ คนเป็น ประธานคณะอนุกรรมการจะพิจารณาคัดเลือกและแต่งตั้งต่อไป
สำหรับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)จะมอบหมายให้หน่วยงาน ที่รับผิดชอบในด้านนั้นๆของสตช.ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ ช่วยเหลือการปฏิบัติงานของแต่ละอนุกรรมการ
ได้วางแนวทางการประชุมไว้ในระยะแรก จะประชุมสัปดาห์ละสองวัน พร้อมทั้งได้กำหนดกรอบระยะเวลา การดำเนินการ และกิจกรรมที่ต้องปฏิบัติในรอบเก้าเดือน เรื่องเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้น คือ การแต่งตั้งโยกย้ายและระบบงานสอบสวน ส่วนเรื่องอื่นๆจะพิจารณาเป็นลำดับต่อไป ในช่วง 2 เดือนแรกน่าจะเห็นเป็นรูปร่าง คือ นำเรื่องต่างๆมาศึกษา คาดว่าจะได้ทำข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็น และ 3 เดือนถัดไป ลงมือปรับแก้กฎหมาย และเสนอเป็นกฎหมาย เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติก่อนจะเข้าสู่ระยะที่ 4 รับฟังความคิดเห็น แต่เราคาดหวังว่าในช่วง 5 เดือนแรก ทุกอย่าง ต้องเสร็จสมบูรณ์ ตนเชื่อมั่นว่าจะใช้เวลา 9 เดือนทำเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจให้แล้วเสร็จตามนโยบายนายกรัฐมนตรี การดำเนินการจะมีข้อขัดข้องหรือแรงต่อต้านมากน้อยแค่ไหน ก็เป็นอีกเรื่อง
Matemnews.com
12 กรกฎาคม 2560