ผศ.นพ.บริบูรณ์ เชนธนากิจ แพทย์ประจำห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ แถลงข่าว 7 มิ.ย.2562 ว่า
ขณะนี้โรงพยาบาลมีการพบผู้ป่วยได้รับผลกระทบจากการใช้กัญชาเพิ่มขึ้นในช่วง1-2 เดือนที่ผ่านมา และเมื่อเริ่มมีการเก็บข้อมูลจากการบอกเล่าของผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการใช้กัญชาในรูปแบบต่างๆ เป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1-30 พ.ค.2562 พบมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 22 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย เช่น เวียนศีรษะ ตามัว ใจสั่น คลื่นไส้อาเจียน จำนวน 12 ราย และผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น ซึมลง สับสน พฤติกรรมเปลี่ยน หรืออาจรุนแรงถึงขนาดมีอาการชักเกร็ง จำนวน 8 ราย ทั้ง 8 รายที่อาการรุนแรงเมื่อมีการสอบถามลงรายละเอียดแล้วจะพบว่า น้ำมันกัญชาที่ผู้ป่วยใช้ ไม่ทราบรายละเอียดว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้าง แต่ละองค์ประกอบมีปริมาณมากน้อยเพียงใด และไม่ทราบขนาดที่ควรใช้ว่าต้องหยดกี่หยด บางรายหยดไป 3-4 หยด หรือบางรายไม่ดีขึ้นก็หยดเพิ่มขึ้นจนไม่ทราบว่าหยดไปจำนวนเท่าใด ดังนั้นการไม่ทราบองค์ประกอบของน้ำมันที่ใช้ ไม่ทราบปริมาณที่แนะนำให้ใช้ รวมถึงต้องเว้นช่วงนานเท่าใดจึงจะหยดเพิ่มได้ ถือเป็นปัญหาหลักในเรื่องการใช้กัญชาขณะนี้ ส่วนบางรายแม้จะมีประวัติใช้กัญชามาแต่ไม่ได้มีอาการหรืออาการแสดงที่เกี่ยวข้องกับกัญชาก็มีอยู่ประมาณ 2 ราย
ข้อมูลที่รวบรวมได้จำนวนผู้ใช้น่าจะต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะยังมีผู้ป่วยอาการเข้าได้กับผลข้างเคียงของกัญชา แต่ผู้ป่วยไม่ได้แจ้งว่ามีการใช้ ขณะนี้ชุดตรวจกัญชาในปัสสาวะหมด อยู่ระหว่างดำเนินการจัดหาเพิ่มเติมจึงไม่สามารถตรวจปัสสาวะ เพื่อดูว่ามีการใช้กัญชาจริงหรือไม่ บางวันพบมีผู้ป่วยได้รับผลกระทบจากการใช้กัญชามารับบริการถึง 3-4 ราย และในกลุ่มที่มีอาการรุนแรง เช่น ซึมลง สับสน พฤติกรรมเปลี่ยน หรือมีอาการชักเกร็ง ก็จำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยแยกสาเหตุอื่นที่รุนแรงกว่าด้วย เช่น อาจเกิดจากเลือดออกในสมอง หรือเป็นความผิดปกติทางสมองอื่นๆ ต้องส่งตรวจเพิ่มเติมด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ส่งผลให้โรงพยาบาลต้องมีการตรวจเพิ่มขึ้น และทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นด้วย หากผู้ป่วยไม่ได้ใช้กัญชาเกินจำเป็นก็ไม่น่าจะมีผลรุนแรงหรือต้องมาโรงพยาบาล ส่วนรายที่อาการไม่รุนแรงเช่นอาการใจสั่น เวียนหัว และเจ็บหน้าอก ก็อาจได้รับการตรวจเพิ่มเติมตามความเหมาะสมแต่ค่าใช้จ่ายไม่สูงมากเท่าการเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์สมอง
ผู้มีอาการที่มาโรงพยาบาล มีทั้งกลุ่มที่ควรใช้กัญชา เช่น มีประวัติชัดเจนว่าเป็นโรคมะเร็ง ปวดหลังจากโรคกระดูกสันหลัง โดยกลุ่มนี้ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวด เป็นกลุ่มที่อาจใช้เป็นการรักษาเสริมได้
แต่บางรายก็เป็นกลุ่มที่อาจไม่ได้ประโยชน์ชัดเจน แต่อยากลองใช้ เพราะได้ข่าวว่าน้ำมันกัญชามีประโยชน์ในการรักษาหลายอย่าง ทั้งที่ไม่รู้ว่ามีประโยชน์กับตัวเองหรือไม่ เช่น มีอยู่รายหนึ่งเป็นแผลกดทับที่หลังก็เอาน้ำมันกัญชาไปหยดที่แผล ซึ่งยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่ากัญชาสามารถช่วยรักษาแผลกดทับได้ หรืออาจอยากลองใช้ เพราะมีคนแนะนำว่าดี ทั้งที่ไม่มีโรคประจำตัวหรือความเจ็บป่วยอะไรแต่กลุ่มที่ทดลองใช้มักจะมีอาการไม่รุนแรง เพราะมีการใช้ปริมาณไม่มาก ผลข้างเคียงจึงแค่เวียนหัว ใจสั่น คลื่นไส้อาเจียน
จากการที่เราพบผู้ป่วยได้รับผลกระทบจากการใช้กัญชาอย่างกลุ่มที่เป็นโรคมะเร็ง และมีการรักษากับทางโรงพยาบาล ก็จะแนะนำว่าน้ำมันกัญชาควรใช้เป็นการรักษาเสริมเพิ่มจากการรักษาเดิมที่มี ไม่ได้ห้ามการใช้ แต่หากจะใช้ต้องระมัดระวังอย่าใช้ปริมาณมากเกินไป และจะย้ำเสมอว่าต้องห้ามทิ้งการรักษาเดิม และควรแจ้งให้แพทย์ที่ทำการรักษาเดิมทราบว่ามีใช้กัญชาเป็นการรักษาเสริมด้วย
ผู้ป่วยที่เดิมมีการรักษากับโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ด้วยโรคประจำตัว เช่นโรคมะเร็ง จะมีบันทึกเพิ่มเติมเพื่อให้แพทย์เจ้าของไข้ท่านเดิมที่ทำการรักษาอยู่ทราบข้อมูลว่ามีการใช้กัญชาเป็นการรักษาเสริม และโดยส่วนตัวไม่ได้กีดกันการใช้กัญชา แต่อยากแนะนำให้รู้ว่าควรใช้เป็นการรักษาเสริมเพิ่มเติมจากการรักษา ตามที่มีหลักฐานแนะนำว่าได้ประโยชน์จริงเท่านั้น หากยังไม่มีหลักฐานว่าได้ประโยชน์จริง เช่น มีผู้ป่วยคิดว่าใช้กัญชาสามารถรักษาโรคไตได้ ก็แนะนำว่าอย่าใช้เลยเพราะยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนการใช้สำหรับภาวะนี้ ส่วนในกลุ่มที่อยากลองใช้ก็อยากแนะนำว่าน้ำมันกัญชาไม่ใช่น้ำมันสารพัดประโยชน์ หากยังไม่มีข้อบ่งชี้ ก็อยากให้รอการยืนยันที่ชัดเจนก่อน
10 Best Amsterdam Cannabis Coffeeshops to Visit
Matemnews.com
8 มิถุนายน 2562