เฟชบุ้ค กรมการแพทย์
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์
นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม (อภ.)
ผศ.พาวิน มโนชัย รักษาการแทนรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้
ดร.สุรพล ใจวงศ์ษา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา
ประกอบพิธี ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วย ความร่วมมือและพัฒนาสายพันธุ์กัญชาและกัญชงเพื่อใช้ทางการแพทย์ ที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อตอนเช้าวันที่ 8 มิ.ย.2562
นพ.สมศักดิ์ แถลงข่าว ว่า “ขณะนี้กรมฯ ห่วงว่าจะมีสารสกัดกัญชาที่ได้มาตรฐานไม่พอใช้ ส่วนใหญ่ที่ใช้อยู่กันคือน้ำมันกัญชาใต้ดิน ที่ไม่มั่นใจว่าได้มาตรฐานหรือไม่เป็นเหตุให้พบผู้ป่วยเข้ารพ.จำนวนหนึ่ง จึงต้องทำให้มีคนปลูกกัญชาที่ได้มาตรฐานเพิ่มขึ้น มีการสกัดที่ได้มาตรฐาน จึงนำมาสู่การลงนามความร่วมมือแบบครบวงจรระหว่างม.แม่โจ้ และ มทร.ล้านนา มี อภ.เป็นผู้ผลิต กรมฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบกระบวนการขออนุญาต ทั้งการปลูก ผลิต และใช้ ต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และคณะกรรมการยาเสพติด คาดว่าจะยื่นได้ใน มิ.ย.2562 และน่าจะได้รับการอนุมัติปลายเดือน ก.ค.ก็จะเริ่มปลูกได้ การปลูกจะเน้นสายพันธุ์ไทย ขอย้ำอย่าใช้น้ำมันกัญชามั่ว หากต้องการใช้ให้ปรึกษาแพทย์ได้ทุกท่าน ไม่ว่าจะผ่านการอบรมแล้วหรือไม่ก็ตาม หากแพทย์ยังไม่ผ่านการอบรม แต่เห็นว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ ก็จะส่งต่อให้แพทย์ที่ผ่านการอบรมการใช้กัญชาทางการแพทย์เอง ประมาณวันที่ 18 มิ.ย. 2562 กรมจะอบรมแพทย์ เภสัชกรในรพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไปได้ครบทุกแห่ง
อภ.มีหน้าที่พัฒนาสารสกัดให้เป็นไปตามความต้องการ เพียงพอ และทันเวลา จึงได้ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมทร.ล้านนา และ 13 มิ.ย.จะลงนามเพิ่มเติมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตสกลนคร เพิ่มเติม และยังเตรียมหาพาร์ทเนอร์รายอื่นๆ อีก ขณะนี้เตรียมประกาศมาตรฐานการรับซื้อช่อดอกกัญชาแห้งทางการแพทย์ คุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ขาย จะถูกต้องตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ผ่านมาตรฐาน อย. มีใบอนุญาตถูกต้อง สายพันธุ์ที่ปลูกต้องเป็นไปตามสูตรตำรับที่ต้องการ จะมีการผลิตสารสกัดกัญชา 3 สูตร คือ สูตรทีเอซีสูง สูตรซีบีดีสูง และสูตรอัตราส่วน 1:1 มาตรฐานการปลูกต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานจีเอพี (GAP) มีการตรวจประเมินระหว่างปลูก มีการควบคุมคุณภาพ ไม่มีสารตกค้างต่างๆ ส่วนราคารับซื้อเป็นตามกลไกตลาดจึงยังบอกไม่ได้ แต่เมื่อต้นปีราคาในต่างประเทศกัญชาแห้งเกรดพรีเมี่ยม เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 7 หมื่น – 1 แสนบาท
ศ.ดร.อานัฐ ตันโช ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ แถลงว่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีฟาร์มกลางป่า 907 ไร่ มีการรักษาความปลอดภัยอย่างดี ยังเหลือเรื่องการล้อมรั้วซึ่งคาดว่าไม่นาน การปลูกกัญชาจะมีแบบปลูกในโรงเรือน หรือกรีนเฮาส์ ขนาด 3,000 ตารางเมตร สามารถปลูกได้ 2,600 ต้น พื้นที่กลางแจ้งปลูกได้ 13,000 ต้น และยังมีพื้นที่ที่สามารถเพาะกล้ากัญชาได้อีกประมาณ 100,000 ต้น หากได้รับอนุญาตแล้วจะลงมือเพาะต้นกล้ากัญชาสายพันธุ์ไทย และเลือกเอาเฉพาะกัญชาตัวเมียไปปลูก
ในพื้นที่อาคารเก็บผลผลิต มีระบบห้องเย็น ประตูเข้าออกเป็นระบบสแกน การปลูกใช้ระบบเกษตรอินทรีย์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานทั้งหมด มีระบบควบคุมสมาร์ทฟาร์ม และมีระบบการตรวจสอบสารเคมีได้ทุกชนิดยกเว้นโครเมียม เช่น เดียวกับกัญชง เป็นพืชที่มีซีบีดีสูง แต่กฎหมายยังอนุญาตให้ใช้เฉพาะเส้นใน ดังนั้นหากปลดล็อคก็จะสามารถนำมาสกัดซีบีดีได้ หรือเอามาใช้ในห้องแล็บได้
ดร.สุรพล แถลงว่า มทร.ล้านนามีความพร้อมทั้งโรงเรือนและกลางแจ้ง มีพื้นที่ 2,200 ตารางเมตรในโรงเรือน และกลางแจ้ง 300 ไร่ ถ้าปรับปรุงสภาพด้านความปลอดภัย ก็พร้อมปลูกได้ จะเน้นพันธุ์ไทยที่ อภ.ใช้ประโยชน์ได้
นพ.อิสระ เจียวิริยบุญญา ผอ.รพ.มะเร็งอุดรธานี แถลงว่า จากการคำนวณอย่างเร็ว คร่าวๆ กัญชา 3,000 ต้น จะนำมาสกัดเป็นสารตั้งต้นได้ 300 ลิตร เมื่อทำให้เจือจางเป็นผลิตภัณฑ์ในอัตราส่วน 1:3 ก็จะได้น้ำมันกัญชาประมาณ 900 ลิตรหรือ 9 แสนมิลลิลิตร (ซีซี) ถ้าแบ่งขวดละ 10 ซีซี จะได้ถึง 9 หมื่นขวด ก็จะทำทั้ง 3 ตำรับ คือ สูตรซีบีดีสูง ทีเอชซีสูง และสูตร 1:1 ซึ่งจะมีเทคนิคในทางเภสัชกรรม โดยทุกขวดจะต้องได้สารสำคัญเท่ากัน คือ 1 มิลลิลิตร มีสารสำคัญ 20 มิลลิกรัม ส่วนจะมีซีบีดี ทีเอชซีเท่าไรก็แล้วแต่สูตร เช่น สูตรหนึ่งต่อหนึ่ง ซีบีดีต้องมี 10 มิลลิกรัม และทีเอชซี 10 มิลลิกรัม ใน 1 มิลลิลิตร หากทีเอชซีสูง ก็จะมีค่าได้ตั้งแต่ 15-18 มิลลิกรัม ที่เหลือเป็นซีบีดี หรือสูตรซีบีดีสูง ก็ต้องมีซีบีดีตั้งแต่ 15-20 มิลลิกรัม ทีเอชซีมีตั้งแต่ 0-5 มิลลิกรัม เป็นต้น
เมื่อนำมาใช้ น้ำมันกัญชา 1 หยดจะต้องมีสารสำคัญ 1 มิลลิกรัม จะทำให้คนไข้ไม่เกิดปัญหาเข้าห้องฉุกเฉินจากการใช้มากเกินไป
การสกัดกัญชาสายพันธุ์ไทยที่มีสารทีเอชซีสูง พบว่าบางสายพันธุ์สกัดด้วยแอลกอฮอล์จะได้ทีเอชซีร้อยละ 30 ซีบีดี 1 ใน 6
หากใช้คาร์บอนไดออกไซด์สกัดจะได้ทีเอชซีร้อยละ 60 แต่เชื่อว่าทั้งสองมหาวิทยาลัยจะพัฒนาสายพันธุ์ไทยให้มีซีบีดีสูงได้ แต่ต้องใช้เวลาประมาณ 6-7 รอบการปลูก รอบละ 3-4 เดือน.
Matemnews.com
8 มิถุนายน 2562