ทีมนักวิทยาศาสตร์และนักโบราณคดีนานาชาติ ค้นพบหลักฐานการใช้กัญชาเพื่อให้ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทอายุเก่าแก่ที่สุดของโลก ในกระถางเผาเครื่องหอมซึ่งพบที่สุสานใกล้เส้นทางสายไหม ในเขตปกครองตนเองซินเจียงทางภาคตะวันตกของจีน
กระถางดังกล่าวซึ่งบรรจุหินที่ถูกเผาไหม้เกรียม มีร่องรอยของสาร THC ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทในกัญชาตกค้างอยู่ในปริมาณสูง โดยกระถางเผาเครื่องหอมนี้มักใช้ในพิธีศพของชุมชนแถบเทือกเขาทางตะวันตกของจีน เมื่อราว 500 ปีก่อนคริสตกาล
มีการตีพิมพ์ผลการค้นพบดังกล่าวในวารสาร Science Advance โดยระบุว่าได้ขุดค้นหลุมศพหลายแห่งในสุสานจีร์ซานคาล (Jirzankal) จนพบโครงกระดูกมนุษย์รวมทั้งเครื่องดนตรีและเครื่องมือเครื่องใช้ในพิธีศพสมัยโบราณจำนวนมาก รวมทั้งกระถางเผาเครื่องหอมที่ทำจากไม้ 10 ใบ ซึ่งคาดว่ามีการนำกัญชามาเผาในกระถางเหล่านี้เพื่อสูดควันเข้าไปด้วย
ผลการตรวจสอบด้วยเครื่องวิเคราะห์สาร (Mass spectrometry ) ชี้ว่ามีสาร THC จากกัญชาหลงเหลืออยู่กับโบราณวัตถุเหล่านี้ในระดับสูง แสดงถึงการเจาะจงเลือกใช้กัญชาสายพันธุ์พิเศษที่ไม่ใช่กัญชาป่า เนื่องจากกัญชาที่ขึ้นเองในธรรมชาตินั้นโดยทั่วไปมีปริมาณ THC ต่ำมาก
ทีมผู้วิจัยคาดว่าเมื่อกว่า 2,500 ปีที่แล้ว น่าจะมีการเผากัญชาในพิธีศพที่มีดนตรีประกอบ เพื่อให้เกิดควันคลุ้งหลอนประสาท จนผู้เข้าร่วมพิธีที่ได้สูดควันเข้าไปมีความรู้สึกว่า ตนเองสามารถสื่อสารกับผู้ตายหรือเหล่าทวยเทพได้
ดร. หยางอี้หมิน จากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) ผู้นำทีมวิจัยบอกว่า สิ่งนี้คือหลักฐานของการใช้กัญชาเพื่อจุดประสงค์ด้านการออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทโดยเฉพาะ ซึ่งถือว่ามีอายุเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบมา
แม้ก่อนหน้านี้จะมีหลักฐานชี้ว่า กัญชาถือกำเนิดในภูมิภาคเอเชียกลาง และมนุษย์เริ่มเพาะปลูกกัญชามาตั้งแต่ราว 4,000 ปีก่อนคริสตกาล แต่ในขณะนั้นเป็นการปลูกเพื่อบริโภคน้ำมันจากเมล็ด หรือใช้เส้นใยทำเชือกหรือทอผ้าเป็นหลัก โดยกัญชาสายพันธุ์โบราณดังกล่าวมีสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทอยู่ในปริมาณที่เจือจางมาก
อย่างไรก็ตาม ทีมผู้วิจัยยังไม่สามารถสรุปได้ว่า คนโบราณกลุ่มที่พวกเขาศึกษานี้ใช้กัญชาที่เพาะปลูกเองในพิธีกรรมต่าง ๆ หรือเลือกเก็บต้นกัญชาป่าที่มีความเข้มข้นของ THC สูงกว่าปกติมาใช้กันแน่ แต่วิธีเสพกัญชาของพวกเขาคล้ายกับของคนโบราณร่วมสมัยเดียวกันในแถบทะเลสาบแคสเปียน ซึ่งนำกัญชาลงเผาในหม้อที่บรรจุหินร้อนแล้วสูดควันเข้าไป
ทั้งนี้ สุสานจีร์ซานคาลตั้งอยู่ใกล้กับเส้นทางสายไหมที่เชื่อมต่อระหว่างจีนและตะวันออกกลาง ทำให้สันนิษฐานได้ว่าเส้นทางการค้าเก่าแก่นี้ น่าจะช่วยทำให้การเสพกัญชาเพื่อนันทนาการแพร่หลายออกไปทั่วโลก