Home มาเต็มกัญชา ไขข้อข้องใจ “ปลูกกัญชา”ทางการแพทย์ ยากตรงไหน?-พบโรคอุบัติใหม่ของโลกกับ “ต้นกัญชา”ของอภ.

ไขข้อข้องใจ “ปลูกกัญชา”ทางการแพทย์ ยากตรงไหน?-พบโรคอุบัติใหม่ของโลกกับ “ต้นกัญชา”ของอภ.

867
0
SHARE

ใกล้ถึงเวลาเก็บเกี่ยว “กัญชา” ขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อนำมาผลิตเป็นสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ โดยคาดว่าปลาย ก.ค.นี้ ก็จะสามารถสกัดเป็น “น้ำมันกัญชา” ใช้หยดใต้ลิ้นออกมาได้ 2,500 ขวด 

แต่การปลูกกัญชาของ อภ.ต่างมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการปลูกที่โอเวอร์เกินไปหรือไม่ ทำไมต้องสวมชุดอวกาศ ทั้งที่จริงแล้วการปลูกกัญชานั้นง่ายมาก

รศ.ดร.วิเชียร กีรตินิจกาล ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะปลูกและปรับปรุงสายพันธุ์พืชมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะที่ปรึกษาและควบคุมการปลูกกัญชาให้แก่อภ.  เปิดเผยว่า การรักษาแต่ละโรคก็จะต้องมีสัดส่วนสารที่ชัดเจน ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่การปลูกให้ได้สารสำคัญที่ต้องการ ดังนั้น สายพันธุ์จึงต้องรอการปรับปรุงพันธุ์ก่อน จึงสามารถนำมาปลูกได้ ซึ่งตนก็อยู่ระหว่างการศึกษาและปรับปรุงพันธุ์ไทยให้มีสารซีบีดีสูงขึ้น รวมถึงอาจปรับปรุงให้เหมาะกับการรักษาแต่ละโรคด้วยซ้ำว่า ต้องการใช้สารแต่ละตัวในสัดส่วนมากน้อยเท่าใด ส่วนการปลูกครั้งแรกของ อภ.จึงต้องใช้พันธุ์ผสมก่อน คือ พันธุ์อินดิกาผสมกับซาติวา และความยากคือทุกต้นจะต้องได้สารสำคัญสูงเท่ากัน 

ส่วนเรื่องการแต่งชุดคลุม คล้ายชุดนักบินอวกาศนั้น เนื่องจากการปลูกกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ต้องมีความปลอดภัย ไม่มีโรค ไม่ใช้สารเคมี เราจะใช้วิธีการป้องกันตั้งแต่แรกเริ่ม คือ มีการควบคุมแสงยูวี อุณหภูมิต่างๆ เพื่อไม่ให้เชื้อที่มีอยู่ในอากาศเจริญเติบโตได้ คนที่จะเข้าไปก็ต้องสวมชุดป้องกัน เพราะการเปิดประตูย่อมหมายถึงมีโอกาสที่จะเกิดการติดโรคและแมลงขึ้นได้

“เราปลูกแบบเกรดทางการแพทย์หรือเมดิคัล เกรด ก็ต้องปลูกโดยไม่ใช้สารเคมีเลย ซึ่งผมก็ใช้วิธีทางธรรมชาติมาต่อสู้กับเชื้อโรคและแมลงที่เข้ามา เช่น ใช้นมฆ่าโรค ใช้มังคุดฆ่าโรค รวมถึงการใช้สมุนไพรและการปรับสภาพแวดล้อมเพื่อสู้กับโรค ทำให้โรคและแมลงอยู่ไม่ได้ ซึ่งการติดโรคจะกระทบสารสำคัญ เพราะเหมือนคนที่เป็นโรค ก็จะโทรมลง ระบบต่างๆ เพี้ยนไป” รศ.ดร.วิเชียร กล่าว

รศ.ดร.วิเชียร กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังคาดว่าอาจเจอโรคในกัญชาที่อาจเป็นครั้งแรกของโลกด้วย เพราะยังไม่เคยพบรายงานการปลูกกัญชาแล้วติดเชื้อโรคดังกล่าว ซึ่งได้ตรวจสายพันธุ์และจัดการแล้ว ด้วยการใช้เชื้อจุลินทรีย์อื่น คือ บาซิลลัส สุดท้ายก็สามารถจัดการได้ ซึ่งต้องบอกเลยว่า การปลูกและดูแลกัญชาทางการแพทย์ไม่ได้ง่ายเหมือนอย่างที่คนอื่นคิดหรือพูดกัน อย่างที่ปลูกในลาวก็ใช้สารเคมีทั้งนั้น

นอกจากนี้การปลูกต้นกัญชานั้น จะต้องให้ได้เพศเมียทั้งหมด มิเช่นนั้น หากมีตัวผู้ก็จะเกิดการผสมกัน ทำให้เกิดเมล็ดขึ้น ซึ่งสารสำคัญในดอกจะเปลี่ยนไปเป็นพลังงานสร้างเมล็ดแทน จึงไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้  ขณะที่การปลูกให้ได้ดอกนั้น ก็ต้องรู้จักเทคนิคการตัดแต่งให้ออกดอกด้วย

ช่วงออกดอกแล้วจะแต่งกิ่งอีกไม่ได้ เพราะเหมือนภรรยาที่ตั้งครรภ์จะไปแตะทุกวันไม่ได้ เขาต้องได้รับแสงให้พอ ปรับคาร์บอนไดออกไซด์ ออกซิเจน ชนิดปุ๋ยให้พอดี ก็มีผลต่อสารสำคัญ ซึ่งช่วงเวลาเก็บเกี่ยวให้ดูจากไตรโคมหรือขนเล็กๆ บนดอกกัญชา ซึ่งจะมีสีขาว หากเปลี่ยนเป็นสีน้ำนม และเป็นสีน้ำตาลปนนิดๆ ต้องเก็บเลย เก็บหลังจากนี้ไม่ดี เพราะสารสำคัญมาแล้ว นอกจากนี้ ยังต้องอบ บ่ม ตากแห้ง ด้วยอุณหภูมิที่เหมาะสม ความชื้นได้ระดับ จึงจะเอาไปใช้ได้ สารทีเอชซีซึ่งมีสภาพเป็นกรดจึงจะเปลี่ยนเป็นสารทีเอชซีที่เอาไปใช้ได้ และเพื่อไม่ให้เกิดราขึ้น

รศ.ดร.วิเชียร กล่าวว่า เราตั้งใจที่จะส่งเสริมเกษตรกรในรูปของวิสาหกิจชุมชนในการปลูก เพื่อให้เขาสามารถปลูกและส่งขายให้แก่ อภ.ได้ แต่รับรองว่าหากให้ปลูกตอนนี้เจ๊งแน่นอน เพราะเสี่ยงต่อการเจอโรคและแมลง

ข้อมูล ล้วงลึกปลูก “กัญชา” กับอาจารย์ “วิเชียร กีรตินิจกาล”