Home มาเต็มกัญชา ร.พ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร เปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์แล้ววันนี้

ร.พ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร เปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์แล้ววันนี้

3161
0
SHARE

 

 

ในโอกาสครบรอบ 78 ปี สถาปนาโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เช้า 24 มิ.ย.2562  ได้มีการประชุมวิชาการหัวข้อ “กัญชาทางการแพทย์” มีวิทยากรชื่อดัง ทั้งแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบัน นักวิชาการหลากหลายแขนง เข้าร่วมอย่างคับคั่งที่สุด

 

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยระวิวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

 

นายแพทย์นำพล แดนพิพัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

 

พ.อ.แพทย์หญิงนวพร หิรัญวิวัฒน์กุล ประธานราชวิยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย

 

ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร ประธานยุทธศาสตร์การแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

 

ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีรวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.ดร.นายแพทย์ปัตพงษ์ เกษมสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ประชาชนเข้าร่วมรับฟังแน่นห้องประชุม

น.พ.ธเรศ กล่าวว่า อย.ได้สนับสนุนให้หน่วยงานที่มีศักยภาพในการผลิตสารสกัดกัญชา  โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร  เป็น 1 ใน 4 รายที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชา ต้องขอชมเชยทีมงานที่เข้มแข็ง สามารถขับเคลื่อนกัญชาทางการแพทย์อย่างเป็นระบบในเวลาอันรวดเร็ว

 

น.พ.นำพล กล่าวว่า หลังจากมีนโยบายชัดเจนจากรัฐบาลจะสนับสนุนให้มีการใช้กัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทย  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เลขาธิการ อย. ก็ได้หารือกัน และเห็นว่าโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในฐานะที่เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร ตั้งแต่การปลูก การสกัด และมีการใช้มานาน ถึงเวลาที่เราจะต้องทำให้เป็นต้นแบบ เพื่อให้ได้กัญชาที่ปลอดภัยเป็นต้นแบบถูกต้องถูกวิธี โดยได้ศึกษาข้อมูล ทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนปราชญ์ชาวบ้าน พบว่า ในกัญชามีความซับซ้อน  มีพฤษเคมีมากกว่า 500 ชนิด   เพราะฉะนั้นเราจะต้องให้ปลอดภัยที่สุด  วันนี้เป็นวันแรกที่เราเปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์ เพื่อให้การรักษาพยาบาล ผู้ป่วยโรคลมชัก  และพาร์กินสัน โดยแพทย์และเภสัชกร ที่ผ่านการฝึกอบรม

 

นอกจากนี้ ร.พ.อภัยภูเบศร ยังเป็นต้นแบบการปลูกกัญชาแบบรากลอย และรากจม  รวมถึงระบบกรีนเฮาส์  ที่ชาวบ้านทั่วไปสามารถนำไปใช้และปลูกได้ด้วยวิธีที่เหมาะสมในอนาคต

 

ภญ.ดร.สุภาภรณ์ กล่าวว่า ร.พ.อภัยภูเบศร จะพัฒนาโรงเรือนเป็นโรงเรียนเพื่อเรียนรู้การปลูกกัญชา ส่งต่อความรู้ให้กับประชาชน อีกประมาณ 4 เดือนก็จะชัดเจนว่า กัญชา 16 ต้นที่ปลูกในตู้คอนเทนเนอร์ จะมีต้นทุนการปลูกเท่าไร และการศึกษาจากการปลูกในหลายวิธีนั้น วิธีไหนจะดีที่สุด เพื่อให้เกษตรกรสามารถลงทุนได้ และมีระบบการควบคุมกับเราอย่างไร เพื่อไม่ให้เล็ดรอดออกไปเป็นยาเสพติด ขณะนี้เกษตรกรยังไม่สามารถปลูกเองได้  เพราะเรายังรู้ไม่ว่าวิธีไหนจะได้ผล ในอนาคตนอกจากร.พ.อภัยภูเบศรแล้ว จะขยายออกไปทั่วประเทศ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ต่อยอดจากอภัยภูเบศร  ขณะนี้เรามีกัญชาที่ได้รับมอบมาจาก ปปส. มีสาร THC เด่น  จะสามารถใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งระยะที่ 4 และโรคปวดปลายประสาทที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา  อีกไม่เกิน 2 เดือนจะสามารถสกัดออกมาได้

 

ส่วนที่สาร CBD เด่น คือ ล็อตที่เราได้รับบริจาคมาจาก อย.นั้น เรามีเพียง 100 ขวดจึงสามารถรองรับผู้ป่วยประมาณ 10 ราย

 

อีกประมาณ 7 เดือน หากการเพาะปลูกได้ผลก็จะสามารถสกัดได้อีกราว 900 ขวด จะรับคนไข้ได้เพิ่มขึ้น

 

Matemnews.com 

24 มิถุนายน 2562