กลุ่มผู้ชุมนุมฮ่องกงอยู่บริเวณรอบๆ อาคารสภา หลังถูกตำรวจเข้าสลายการชุมนุมช่วงกลางดึกที่ผ่านมา คาดมีการนัดรวมพลอีกวันนี้
วันที่ 2 ก.ค.2562 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานนางแคร์รี แลม หัวหน้าคณะผู้บริหารเกาะฮ่องกง ปรากฎตัวครั้งแรกในรอบ 10 วันนับตั้งแต่เหตุประท้วงใหญ่เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน นางแคร์รี แลมได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีรำลึก 22 ปี ฮ่องกงกลับมาอยู่ภายใต้การปกครองของจีนเมื่อปี 2540 โดยช่วงหนึ่งของการกล่าวสุนทรพจน์นางแคร์รี แลม ได้ย้ำว่า “รัฐบาลพร้อมรับฟังเสียงของประชาชนเสมอ” ขณะที่ผู้ประท้วงต่อต้านพิธีนี้ซึ่งมีทุกปีแต่ในปีนี้บรรยากาศการประท้วงตึงเครียดที่สุดเพราะไม่พอใจรัฐบาลที่ยังไม่ยอมยกเลิกร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน
ขบวนผู้ชุมนุมเริ่มต้นที่สวนสาธารณะวิกตอเรียพาร์กในเวลา 14.30 น.ของวันที่ 1 ก.ค. จากนั้นจะเคลื่อนไปจนสิ้นสุดที่ที่ทำการรัฐบาลใกล้ย่านการเงินของฮ่องกง สื่อท้องถิ่นอ้างแหล่งข่าวว่า ตำรวจปราบจลาจล 5,000 นายดูแลความปลอดภัยโดยรอบ กระทั่งเวลา 21.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงจำนวนมากฝ่าแนวป้องกันของตำรวจปราบจลาจล เข้าบุกยึดสภานิติบัญญัติของฮ่องกง ตามรายงานระบุว่าผู้ชุมนุมได้ใช้ของแข็งทุบกระจก และบุกเข้าไปในตัวอาคารสภานิติบัญญัติของฮ่องกงทำลายข้าวของภายในอาคารเสียหาย พ่นสีสเปรย์เขียนข้อความบนผนังและตราสัญลักษณ์แบ่งเขตบริหารพิเศษฮ่องกง นอกจากนี้ยังมีการนำธงอาณานิคมของอังกฤษมาวางที่ที่นั่งของประธานสภาด้วย
ต่อมาเวลา 00.20 วันที่ 2 กรกฎาคม ตามเวลาท้องถิ่น ตำรวจฮ่องกงเริ่มยิงแก๊สน้ำตาเพื่อรับมือผู้ชุมนุมในฮ่องกง บริเวณจุดใกล้กับตึก Legco โดยจุดเกิดเหตุมีป้ายแสดงข้อความ “การชุมนุมครั้งนี้ถือว่าละเมิดกฎหมาย เราอาจจะปฏิบัติการสลายการชุมนุมได้” และแก๊สน้ำตาอยู่ในจุดชุมนุม สุดท้ายตำรวจต้องยอมถอยร่นเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะและตั้งหลัก เวลาต่อมาตำรวจหลายร้อยนายได้เคลื่อนกำลังจากทุกทิศทางบุกเข้าไปภายในสภาและยิงแก้สน้ำตาเพื่อยึดคืนพื้นที่รวมทั้งขับไล่ผู้ประท้วงได้สำเร็จ และเร่งทำการรื้อถอนสิ่งกีดขวางบนท้องถนน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ยังคงมีกลุ่มผู้ประท้วงคงหลงเหลืออยู่บริเวณรอบๆ อาคารสภาและเตรีนมนัดรวมพลใหม่ในวันนี้ เบื้องต้นมีรายงานเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บรวม 13 นาย การชุมนุมวานนี้เป็นการชุมนุมที่ต่อเนื่องมาจากการประท้วงต่อต้านการปรับแก้กฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนในฮ่องกง ซึ่งมีประชาชนนับล้านคนเข้าร่วมในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา จนกระทั่งเกิดเหตุปะทะรุนแรงระหว่างตำรวจกับผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยผู้ชุมนุมได้เรียกร้องให้นางแลมลาออกจากตำแหน่งและให้ยกเลิกร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน
ที่มา ซีเอ็นเอ็น