Home ข่าวประชาสัมพันธ์ หนุน”สมุนไทย” ขึ้นแท่นตลาดระดับโลกส่งออกนับแสนล้านบาท!

หนุน”สมุนไทย” ขึ้นแท่นตลาดระดับโลกส่งออกนับแสนล้านบาท!

616
0
SHARE

กรมวิชาการเกษตรสบช่องตลาดสมุนไทยผงาด หนุนเกษตรกรปลูกพืชสมุนไพรผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP แล้วจำนวน 18 ชนิด จำนวน 818 ราย พื้นที่ 2.8 พันไร่  พร้อมเตรียมให้การรับรองระบบอินทรีย์อีก 21 ชนิด พร้อมเร่งขยายพื้นที่แปลงใหญ่ 7 จังหวัดทั่วประเทศ มุ่งยกระดับคุณภาพมาตรฐานสมุนไพรไทย รองรับการเติบโตอุตสาหกรรมสมุนไพรและการแพทย์แผนไทยมูลค่าปีนับแสนล้าน

วันที่ 4 ก.ค.62 ดร.เสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดพืชสมุนไพรไทยทั้งในและตลาดโลก ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าการส่งออกปีละนับแสนล้านบาท โดยสมุนไพรไทยในกลุ่มเสริมอาหารมีมูลค่าการใช้และส่งออกรวมกว่า 80,000 ล้านบาท กลุ่มสปาและผลิตภัณฑ์มีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท และกลุ่มยาแผนโบราณตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยมีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท

กรมวิชาการเกษตรจึงได้เร่งผลักดันให้เกษตรกรปลูกสมุนไพรภายใต้ระบบ GAP เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสมุนไพรไทยให้เป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น โดยขณะนี้มีแปลงปลูกสมุนไพรเข้าระบบรับรองแปลง GAP  แล้วจำนวน 18 ชนิด ได้แก่   กระชาย กระชายดำ ขมิ้นชัน บัวบก ขิง ข่า อบเชย ว่านหางจระเข้ ว่านชักมดลูก ว่านนางคำ ฟ้าทะลายโจร ฟักข้าว เจียวกู่หลาน เพกา เพชรสังฆาต มะดัน หญ้าปักกิ่ง หญ้าหวาน จำนวน 818 ราย เป็นพื้นที่ 2,842.46 ไร่ โดยในจำนวนดังกล่าว เป็นสมุนไพรประเภท Product champion คือ บัวบก ไพล กระชายดำและขมิ้นชัน จำนวน 134 ราย คิดเป็นพื้นที่ 165.23 ไร่ และเตรียมเข้าระบบรับรองแปลงอินทรีย์  มีพืช 21 ชนิด ได้แก่ กระชาย กระชายดำ ขมิ้นชัน บัวบก ขิง ข่า อบเชย ว่านน้ำ ว่านหางจระเข้ ว่านชักมดลูก ว่านนางคำ ฟ้าทะลายโจร ฟักข้าว หญ้าปักกิ่ง ย่านาง หญ้าหวาน เจตมูลเพลิง เจียวกู่หลาน เพกา เพชรสังฆาต กระทือ จำนวน 458 ราย พื้นที่ 280.1 ไร่ โดยมี Product champion บัวบก ไพล กระชายดำ ขมิ้นชัน รวม 47 ราย พื้นที่ 39.88 ไร่

นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรยังได้สนับสนุนให้เกษตรกร 500 รายปลูกพืชสมุนไพรภายใต้ตามระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ จำนวน 8 แปลง ในพื้นที่ 7 จังหวัด ประกอบด้วย 1.แปลงใหญ่ขมิ้นชัน อ.ทับปุด จ.พังงา 2.แปลงใหญ่สมุนไพร อ.พนม จ.สุราษฎร์ธานี 3.แปลงใหญ่สมุนไพร อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ 4.แปลงใหญ่สมุนไพร อ.จอมบึง จ.ราชบุรี 5. แปลงใหญ่ดีปลี อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี 6.แปลงใหญ่สมุนไพรทั่วไป อ.เมือง จ.มหาสารคาม  7.แปลงใหญ่สมุนไพร อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม  8.แปลงใหญ่สมุนไพรทับทิมสยาม 05 อำเภอคลองหาด จังหวัดสระแก้วซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเมืองสมุนไพร ภายใต้แผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย

ด้านนายสมบัติ ตงเต๊า ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 2 (สวพ.2)  กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีแหล่งผลิตพืชสมุนไพรกระจายทั่วประเทศ ในปี 2560 มีพื้นที่ปลูกพืชสมุนไพรเพื่อการค้า รวม 32,200.76 ไร่ ผลผลิตรวม 150,425 ตัน โดยมีพืชสมุนไพรที่สำคัญได้แก่ อัญชัน เตยหอม กระเจี๊ยบแดง กระชายดำ กระวาน  ขมิ้นชัน คำฝอย ชุมเห็ดเทศ ตะไคร้หอม บัวบก พลูคาว ไพล กวาวเครือขาว   เพชรสังฆาต ฟ้าทะลายโจร มะระขี้นกว่านชักมดลูก ว่านหางจระเข้ หญ้าหวาน จันทน์เทศ ดีปลี พริกไทย ส้มแขก มะแขว่น พลู  หมาก และสมุนไพรอื่นๆ

        “ปัจจุบันอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีแนวโน้มการเติบโตที่ก้าวกระโดด เนื่องจากผู้บริโภคมีความใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ประกอบกับประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทำให้มีการนำสมุนไพรมาผลิตเป็นยาใช้ทางการแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาลมากขึ้น เฉพาะยาแผนไทยที่บรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ 71 รายการพบว่ามีมูลค่าการใช้ราว ปีละ 14,000 ล้านบาท  และมีแนวโน้มความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ   รายงานของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกพบว่า  ผลของการพัฒนาและเติบโตของตลาดนวดไทย  สปา และผลิตภัณฑ์สปาพัฒนาเติบโตอย่างรวดเร็วทำให้มีมูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท และมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 30″ นายสมบัติ กล่าว

จากสถานการณ์ดังกล่าว เกษตรกรจะต้องเร่งพัฒนาวัตถุดิบพืชสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานมากขึ้น  เนื่องจากแต่ละประเทศได้ออกกฎระเบียบการค้าและกำหนดมาตรฐานวัตถุดิบออกมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่มีสารสำคัญออกฤทธิ์ ไม่มีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ เชื้อรา โลหะหนัก และสิ่งเจือปนอื่นเกินมาตรฐาน และเร่งปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อให้สามารถเข้าสู่ระบบการผลิตพืชอินทรีย์ที่ได้รับรองมาตรฐาน