Home ข่าวทั่วไปรอบวัน มีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม และใช้องค์กรในกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือทางการเมืองกดดันแจ้งข้อหาฟอกเงินโอ๊คพานทองแท้

มีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม และใช้องค์กรในกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือทางการเมืองกดดันแจ้งข้อหาฟอกเงินโอ๊คพานทองแท้

848
0
SHARE

 

นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีพนักงานสอบสวนดีเอสไอ นำโดยอธิบดี ได้แถลงมติของคณะพนักงานสอบสวนให้แจ้งข้อหาการฟอกเงิน แก่นายพานทองแท้ ชินวัตร และพวก โดยให้รวบรวมพยานหลักฐานให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือนว่า จากการติดตามรายละเอียดต่างๆของคดีนี้ พบว่าคดีเริ่มต้นเมื่อมีการรัฐประหารรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเมื่อปี พ.ศ. 2549 มีการจัดตั้ง คตส. มีการสอบสวนเอาผิดรัฐบาลในอดีตหลายคดี รวมทั้งคดีการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยให้กับบริษัทกฤษดามหานคร ทาง คตส.ได้มีมติให้ฟ้องร้องนายทักษิณและผู้เกี่ยวข้องหลายคน รวมทั้งนายพานทองแท้ว่า เป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐให้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ความผิดของพนักงานและความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ

 

“คดีดังกล่าวอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องนายพานทองแท้ และพวก ครั้นเมื่อมีการโอนคดีจาก คตส. มายัง ป.ป.ช. ภายหลัง คตส. สิ้นสุดลง ป.ป.ช. ก็มิได้นำคดีมาฟ้องร้องนายพานทองแท้กับพวกแต่อย่างใด ซึ่งโดยปกติเรื่องก็ควรจะยุติสิ้นสุด ต่อมาในปี 2557  มีการหยิบยกประเด็นให้มีการดำเนินคดีกับนายพานทองแท้ กับพวก ในความผิดตามกฎหมายฟอกเงิน และข้อหารับของโจร และได้มีการตั้งพนักงานสอบสวน  ในที่สุดได้มีมติยุติข้อหารับของโจร เนื่องจากขาดอายุความ ส่วนข้อหาตามกฎหมายฟอกเงิน เห็นว่า พยานหลักฐานไม่เพียงพอ” นายชูศักดิ์ กล่าว

 

ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวอาจพิจารณา และตั้งคำถามได้ว่า อาจเข้าข่ายลักษณะการใช้กลไกและอำนาจทางกฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือไม่ อีกทั้งหนังสือร้องเรียนของรองอธิบดีดีเอสไอ ที่ปรากฏทางสื่อทั้งหลายส่อให้เห็นว่า มีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม และใช้องค์กรในกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือทางการเมือง จึงเป็นที่น่าห่วงใยว่า การที่เรามีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายและหลักนิติธรรมนั้น จะมีผลในทางปฏิบัติโดยแท้จริงหรือไม่

 

นายชัยเกษม นิติสิริ อดีตรมว.ยุติธรรม   ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวถึงการปรากฏเอกสารร้องเรียนของพ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ที่ยื่นต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม(ก.พ.ค.) เพื่อร้องทุกข์คำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่สั่งย้าย พ.ต.ท.สมบูรณ์ ไปเป็นผู้ตรวจการพิเศษ โดยระบุถึงสาเหตุในการสั่งย้ายว่า เพราะมีความขัดแย้งกับอธิบดีดีเอสไอที่สั่งการให้พ.ต.ท.สมบูรณ์ แจ้งข้อกล่าวหานายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ร่วมกันฟอกเงินและรับของโจรในคดีเงินกู้ธนาคารกรุงไทย แต่พ.ต.ท.สมบูรณ์ไม่ทำเพราะคดีรับของโจรขาดอายุความไปแล้ว ว่า หากเป็นจริงตามข่าว แสดงว่าพ.ต.ท.สมบูรณ์ถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่ไม่ควรจะทำ ก็จะตรงกับแถลงการณ์ที่เพื่อไทย อีกทั้งเมื่อคดีขาดอายุความแล้ว จะให้พ.ต.ท.สมบูรณ์แจ้งดำเนินการไม่ได้เพราะเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ส่วนที่มีการระบุว่าทำได้เพราะเป็นระบบไต่สวนโดยให้ผู้ต้องหามาแก้ตัวเองนั้น ตนมองว่าหากมองตามข้อกฎหมายแล้วชัดเจนว่าเมื่อคดีขาดอายุความแล้วจะไปทำอะไรนายพานทองแท้ไม่ได้

“หลักในการแจ้งข้อหามีอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความคดีอาญาว่าการแจ้งข้อหาจะต้องมีหลักฐานตามสมควรว่าผู้นั้นจะได้กระทำความผิดตามข้อหานั้น หมายความว่าจะต้องมีการรวบรวมพยานหลักฐานให้ได้ตามสมควรก่อน และจำเป็นก็ต้องเรียกผู้ถูกกล่าวหามาสอบสวน ชี้แจง และเมื่อเห็นว่ามีพยานหลักฐานตามสมควรแล้วจึงจะแจ้งข้อกล่าวหาได้ ไม่ใช่ว่ามีใครมากล่าวหาอะไรแล้วไปแจ้งข้อหาได้เลยโดยที่ไม่ได้สอบสวนว่ามีมูลหรือมีความผิดตามกฎหมายหรือไม่ แสดงให้เห็นว่าคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้อยู่กำลังดำเนินการอย่างไม่เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมที่สมควรจะเป็น”

 

matemnews.com  8 กันยายน 2560