Home ข่าวทั่วไปรอบวัน ผบ.ทบ.ลงพื้นที่ยะลาชมคืบหน้า “สนามบินเบตง”

ผบ.ทบ.ลงพื้นที่ยะลาชมคืบหน้า “สนามบินเบตง”

477
0
SHARE

วันนี้ (5ก.ค.62) พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) พร้อมด้วย พล.ท.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ แม่ทัพภาคที่ 1 พร้อมคณะ เดินทางตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานในพื้นที่ อ.ธารโต และ อ.เบตง จ.ยะลา ถือเป็นพื้นที่อยู่ในความรับผิดชอบสมัยรับราชการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมตรวจความคืบหน้าการก่อสร้างสนามบินเบตง โดยมี พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ให้การต้อนรับ

ทั้งนี้ ในช่วงเช้า พล.อ.อภิรัชต์ พร้อมคณะ ได้ทางมายังหน่วยเฉพาะกิจตำรวจชายแดนที่ 44 อ.ธารโต พบปะกับฝ่ายปกครองและผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่ พร้อมทั้งกล่าวว่า รู้สึกดีใจที่พื้นที่นี้มีความเจริญไปมาก อยากให้ช่วยกันดูแล โดยเฉพาะสนามบินเบตง ที่ก่อสร้างในยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ท่านมีความคิดริเริ่มตั้งแต่ปี 2538 และขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดใช้บริการแบบครบวงจร ในปี 2564 จากนั้นงบประมาณจากส่วนกลางจะลงมา นำไปสู่ความเจริญหลายด้าน และพื้นที่นี้จะกลายเป็นศูนย์ท่องเที่ยงใหญ่ที่สุด นักท่องเที่ยวจะหลั่งไหลเข้ามา จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้ไทยพุทธและมุสลิม อยู่กันอย่างมีความสุข อย่างไรก็ตาม ตนรู้สึกเป็นห่วงเรื่องการศึกษา และสาธารณสุข

จากนั้น พล.อ.อภิรัชต์ ให้โอวาทหน่วยเฉพาะกิจตำรวจชายแดนที่ 44 ว่า แม้ว่า อ.ธารโต และ อ.เบตง จะมีความสงบสุขมากกว่าสมัยที่ตนเคยรับราชการ แต่เราต้องไม่ประมาทและมีความพร้อมอยู่เสมอ ที่สำคัญต้องดูแลประชาชนในพื้นที่ให้เกิดความปลอดภัยต่อเนื่อง ให้เฝ้าระวังบุคคลภายนอกที่จะเข้ามาก่อเหตุ โดยเฉพาะสนามบินเบตง กำลังแล้วเสร็จ การใช้เส้นทางต้องปลอดภัยเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ที่สำคัญขออย่าเข้าไปมีส่วนร่วมในสิ่งผิดกฎหมาย เพราะเราเป็นข้าราชการขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นข้าราชการในกองทัพบก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องมีความภาคภูมิใจ และการปฏิบัติงานในหน้าที่ขอให้ยึดถือตามหลักกฎหมาย

ต่อจากนั้น พล.อ.อภิรัชต์ พร้อมคณะ เดินทางไปตรวจความคืบหน้าสนามบินเบตง และให้สัมภาษณ์ว่า สนามบินเบตงเป็นการดำเนินการของ พล.อ.ประยุทธ์ สมัยดำรงตำแหน่งเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ท่านได้ลงพื้นที่มาดูการปฏิบัติงาน เมื่อปี 2538 จากนั้นผ่านไป 20 ปี พล.อ.ประยุทธ์ ก็ทำให้เกิดสนามบินเบตง ในปี 2558 โดยมีวิสัยทัศน์ว่าสนามบินแห่งนี้ อยู่ในแผนพัฒนาใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ครอบคลุม 3 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจ ความมั่นคง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเดิมสนามบินนี้ทำรันเวย์ แค่ 1800 เมตร และมีการขยายเพิ่มอีก 300 เมตร ในอนาคต เพื่อให้เครื่องบินแอร์บัส , โบอิ้ง 737 และโบอิ้ง 747 สามารถลงได้ ทั้งนี้ รัฐบาลมีวิสัยทัศน์เปิดประตูการค้าขาย เปิดประตูอาเซียนและการค้าเสรีด้วย

 

พล.อ.อภิรัชต์ กล่าวว่า อ.เบตง เป็นพื้นที่ที่มีคุณลักษณะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ใหญ่ และด้วยสภาพภูมิศาสตร์สนามบินเบตง ห่างจากสนามบินอื่นเกิน 100 กิโลเมตร ขึ้นไป เนื่องจากสนามบินใกล้ที่อยู่ฝั่งมาเลเซีย คือ สนามบินปีนัง ตนจึงเชื่อมั่นว่า หากสนามบินเบตงเปิดให้บริการสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ปีละ 1 ล้านคน และในชั่วโมงเร่งด่วนสามารถรับผู้โดยสารชั่วโมงละ 300 คน ถือว่าความฝันที่เบตงจะเป็นประตูการค้าเกิดขึ้นในสมัยของ คสช.ซึ่งถือเป็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตนดีใจที่ได้มาเห็นความสำเร็จ และขอให้การดำเนินงานผ่านไปด้วยความราบรื่นรวมถึงการก่อสร้างต่างๆ แม้จะมีอุปสรรคบ้าง

พล.อ.อภิรัชต์ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องความมั่นคงหน่วยงานความมั่นคงก็จะให้การสนับสนุนในทุกรูปแบบ เพราะจะสามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าให้พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีเศรษฐกิจที่ดีความไม่สงบก็น่าจะเบาบางลง สำหรับการดูแลรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานในอนาคตนั้น ต้องหารือกับการท่าอากาศยาน โดย กอ.รมน.ภาค 4 จะต้องร่วมวางแผนด้วย โดยสนามบินเบตงจะอยู่ภายใต้การดูแลของสนามบินนราธิวาส ส่วนการดูแลในพื้นที่รอบนอกก็เป็นหน้าที่ของทหาร ซึ่งพื้นที่เบตงค่อนข้างจะมีความสงบเรียบร้อยอยู่แล้ว