เฟชบุ้ค Wassana Nanuam
ทำเสียเอกราช
ศรชล.-ทัพเรือ สรุปคดีแล้ว “2ผัวเมีย” สร้าง Seasteading ในทะเล ทำให้ประเทศไทย”สูญเสียเอกราช” เหนือบริเวณพื้นที่ทางทะเล ยัน “อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล 1982”ไม่มีคำว่า น่านน้ำสากล International Water ปรากฏอยู่ ให้รายงานตัว 15 กค.นี้ ไม่งั้น ออกหมายจับ
ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลแถลงความคืบหน้าการดำเนินคดีกรณีสิ่งก่อสร้างในทะเล (Seasteading)
“รองเสธ.โต้ง” พลเรือโทไกรศรี เกษร รองรองเสธ.ทร. และ รองเลขาธิการ ศรชล. ในฐานะประธานคณะทำงานด้านกฎหมาย ศรชล.
พร้อมด้วย พลเรือตรี วิธนรัชต์ คชเสนี รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ในฐานะรองผู้อำนวยการ ศรชล. ภาค 3
นาย ภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ในฐานะผู้อำนวยการ ศรชล.จังหวัดภูเก็ต นาย วันฉัตร ชุณหถนอม อัยการจังหวัดภูเก็ต และพันตำรวจเอก นิกร สมสุข ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรวิชิต ในฐานะพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในคดีฯ
แถลงข่าว ที่ ศาลากลาง จังหวัดภูเก็ตในการดำเนินคดี ที่ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 (ศรชล.ภาค 3) ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษนาย เชด แอนดริว เอลวอทอวสกี้ (CHAD ANDREW ELWARTOWSKY) สัญชาติอเมริกัน และนางสุปราณี เทพเดช หรือนาเดีย ภรรยาชาวไทย ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรวิชิต ในความผิดฐานละเมิดสิทธิอธิปไตยของไทย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 119 และละเมิดสิทธิอธิปไตยของประเทศไทยที่มีเหนือเขตต่อเนื่องตามข้อ 56B และข้อ 60 วรรค 7 และวรรค 8 ของอนุสัญญากฎหมายทะเล (UNCLOS) ค.ศ.1982 อันเป็นการทำให้ประเทศไทยสูญเสียเอกราชที่มีในเขตต่อเนื่อง
และได้ดำเนินการเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวของนาย เชด แอนดริว เอลวอทอวสกี้
พร้อมทั้งได้เก็บรักษาสิ่งก่อสร้างในทะเลไว้เป็นของกลาง ในการดำเนินคดี ที่ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต
เนื่องจากคดีนี้ เป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 119 ซึ่งเกิดขึ้นในเขตต่อเนื่องของประเทศไทย จึงถือเป็นคดีนอกราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 20 จำเป็นต้องมีคำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุดแต่งตั้งให้ นาย วันฉัตร ชุณหถนอม อัยการจังหวัดภูเก็ต
โดยร่วมกับ พันตำรวจเอก นิกร สมสุข ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรวิชิต เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ในกรณีความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทย ที่ผ่านมา ศรชล. ได้ดำเนินการให้มีการให้ปากคำของพยานผู้กล่าวหาเรียบร้อยแล้ว
และพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการออกหมายเรียกผู้ต้องหาแล้วจำนวน 2 ครั้ง
โดยครั้งที่ 2 จะมีกำหนดให้ผู้ถูกกล่าวหารายงานตัวภายในวันที่ 15 กรกฎคมนี้ หากไม่มาตามกำหนดพนักงานสอบสวนจะดำเนินการทำคำร้องต่อศาลเพื่อขอออกหมายจับต่อไป
คดีนี้เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับเอกราชและความมั่นคงทางทะเลในพื้นที่นอกราชอาณาจักร
อีกทั้งประกอบกับความผิดเป็นความผิดที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ
ผู้ถูกกล่าวหาได้อ้างว่าพื้นที่เกิดเหตุเป็นน่านน้ำสากล (International Water)
อย่างไรก็ตามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล 1982 ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่นั้นไม่มีคำว่า น่านน้ำสากล หรือ International Water ปรากฏอยู่
อีกทั้งพื้นที่เกิดเหตุดังกล่าวตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล 1982 ได้บัญญัติให้ประเทศไทยในฐานะรัฐชายฝั่งมีสิทธิอธิปไตยเหนือการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างในทะเลแต่เพียงผู้เดียว
การที่ นายเชด แอนดริว เอลวอทอวสกี้ สัญชาติอเมริกัน และนางสุปราณี เทพเดช ประกาศความสำเร็จในการติดตั้งสิ่งก่อสร้างในทะเลพร้อมประกาศขายสิ่งก่อสร้างในลักษณะเดียวกันอีก 20 หน่วยเพื่อจัดตั้งเขตปกครองตนเอง ในพิกัด ละติจูด 7 องศา 29.37 ลิปดาเหนือ ลองจิจูด 98 องศา 34.81 ลิปดาตะวันออก หรือบริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะราชาใหญ่ ระยะห่างประมาณ 14 ไมล์ทะเล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขตต่อเนื่องอันเป็นสิทธิอธิปไตยแต่เพียงผู้เดียวของประเทศไทย จึงทำให้ประเทศไทยสูญเสียเอกราชเหนือบริเวณพื้นที่ทางทะเลดังกล่าว
จะเห็นได้ว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีนอกราชราชอาณาจักร ประกอบกับความผิดเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายหน่วยงานของรัฐ แต่ที่ผ่านมากฎหมายมิให้อำนาจแก่รัฐในบูรณาการกัน
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชบัญญัติการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ.2562 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 13 มีนาคม พ.ศ.2562 เป็นต้นไป
จึงทำให้เกิดศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือ ศรชล. โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ผอ.ศรชล.) พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (รอง ผอ.ศรชล.) และ พลเรือเอก ชาติชาย ศรีวรขาน เสนาธิการทหารเรือ เป็นเลขาธิการ ศรชล. ตามมาตรา 27
กรณีปรากฏว่าเกินขีดความสามารถของหน่วยงานของรัฐ และมีความจำเป็นต้องมีการบูรณาการในการปฏิบัติงาน ได้ให้ ศรชล.มีอำนาจในการควบคุมบังคับบัญชาหน่วยงานของรัฐ เพื่อกำกับดูแล อำนวยการ และบูรณาการในการจัดการหรือแก้ไขปัญหา รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถของหน่วยงานของรัฐเข้าด้วยการ และให้มีศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค หรือ ศรชล.ภาค
โดยมีผู้บัญชาการทัพเรือภาคเป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค หรือ ผอ.ศรชล.ภาค โดยมีหน้าที่ และอำนาจและรับผิดชอบเกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลในเขตพื้นที่รับผิดชอบของทัพเรือภาค และจังหวัดชายทะเล
อีกทั้งในแต่ละจังหวัดชายทะเล ให้มีศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัด หรือศรชล.จังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือ ผอ.ศรชล.จังหวัด มีหน้าที่และอำนาจและรับผิดชอบเกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลในเขตพื้นที่รับผิดชอบของจังหวัด
ในการนี้ ศรชล.ซึ่งมีหน้าที่ในการรักษาเอกราช อธิปไตยและความมั่นคง ตลอดจนผลประโยชน์ของชาติทางทะเล จึงต้องดำเนินการบูรณการขีดความสามารถของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางทะเล
โดยสั่งการให้ ศรชล.ภาค 3 เป็นผู้ใช้อำนาจในการอำนวยการ ร่วมกับ ศรชล.จังหวัดภูเก็ต ในการประสานงานดำเนินการแก้ไขปัญหา และเพื่อปกป้องคุ้มครองเอกราชทางทะเลของประเทศไทยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง และผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
matemnews.com
5 กรกฎาคม2562