เว็บไซต์รัฐบาลเผยแพร่
ชมรูป
นายกรัฐมนตรี ชมการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการ ตามมาตรฐานสากล
นายกรัฐมนตรี ขอทุกคนเรียนรู้ประสบการณ์จากภัยพิบัติที่ผ่านมา เพื่อเตรียมการป้องกันและทำให้ตนเองปลอดภัย
วันนี้ ( 8 กรกฎาคม 2562) เวลา 13.00 น. ณ ท่าเทียบเรือน้ำลึกภูเก็ต อ่าวมะขาม ตำบลวิชิต อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชมการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการ พ.ศ. 2562 (Integrated Disaster Management Exercise : IDMEx 2019) กรณีภัยจากสึนามิ ทั่งภาคพื้นดิน ทางน้ำ ทางอากาศและบนเกาะ และเยี่ยมชมศูนย์จิตอาสาบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์สั่งการ(ICP) ศูนย์สื่อสาร และศูนย์ประสานงานของหน่วยงาน ระหว่างประเทศ (UCC)
เมื่อมาถึง นายกรัฐมนตรีเดินตรวจเยี่ยมและทักทายเจ้าหน้าที่ ประชาชน จิตอาสา ประจำสถานีหลักต่าง ๆ ได้แก่ สถานีจิตอาสา โรงครัวพระราชทาน สถานที่พักพิง โรงพยาบาลสนาม จุดพิสูจน์ DNA โดยเป็นบูรณการการปฏิบัติงานร่วมกันของเจ้าหน้าที่ ทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การสาธารณกุศล องค์การระหว่างประเทศ เครือข่ายภาคประชาชน จิตอาสา โดยกล่าวชื่นชมเจ้าหน้าที่ จิตอาสาว่า ทุกคนมีจิตใจยอดเยี่ยมมีความเสียสละ ซึ่งเป็นพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้มีการฝึกร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่ ประชาชน และจิตอาสา เพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันระวังเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ทั้งภัยพิบัติต่าง ๆ โดยทรงมีความห่วงใยประะชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อนต่าง ๆ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หน่วยราชการในพระองค์ร่วมกับหน่วยราชการต่าง ๆ และประชาชนทุกหมู่เหล่าที่มีจิตอาสา บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน จึงขอขอบคุณจิตอาสาทุกที่ร่วมกันดูแลสถานการณ์ความมั่นคงต่าง ๆ ขอให้ทุกคนฝึกฝน เรียนรู้ให้มากที่สุด ที่สำคัญต้องดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรงให้มีความพร้อมตลอดเวลาด้วย
จากนั้น นายกรัฐมนตรีร่วมกับผู้ว่าราชการ 6 จังหวัดชายฝั่งอันดามัน และผู้ว่าราชการทั่วประเทศ ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุล และผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ รวมสังเกตุการณ์การสาธิตการป้องกันบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการ พ.ศ. 2562 โดยกำหนดให้เป็นการฝึกการจัดการสาธารณภัยร้ายแรงอย่างยิ่ง (ระดับ 4) ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 สมมุติเกิดแผ่นดินไหว ทำให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ ระบบสื่อสาร ระบบสาธารณูปโภค และระบบนิเวศได้รับความเสียหาย และนักท่องเที่ยวได้รับบาดเจ็บ โดยมีทดสอบการใช้เครื่องมือ กำลังพล และการมีส่วนร่วมของประชาชนจิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. ทั้ง 11 ด้าน คือ 1) การติดตาม เฝ้าระวัง และแจ้งเตือนภัยสึนามิ 2) การอำนวยการในการอพยพ 3) การจัดการศูนย์พักพิงรองรับการอพยพ 4) การสถาปนาระบบสื่อสารในภาวะฉุกเฉิน 5) การประเมินผลกระทบจากสึนามิและความจำเป็นเร่งด่วน 6) การค้นหาช่วยเหลือ กู้ภัย และการปฏิบัติการทางการแพทย์ 7) การจัดการผู้พลัดหลง สูญหายและการจัดการศพผู้เสียชีวิต 8) การประชาสัมพันธ์ในภาวะฉุกเฉิน 9) การประสานกับองค์การระหว่างประเทศ 10) การดำเนินการเกี่ยวกับประชาชนจิตอาสา 11) การฟื้นฟูระบบนิเวศ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แหล่งโบราณสถาน หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้ตรวจเยี่ยมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ (Incident Command Post) และกล่าวขอบคุณการทำงานในวันนี้ที่เป็นไปอย่างเรียบร้อย และร่วมถ่ายรูปกับผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ ที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ในวันนี้ด้วย
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวมอบโอวาทว่า ภัยจากคลื่นสึนามิ เป็นกรณีภัยพิบัติที่มีความร้ายแรงอย่างยิ่ง ซึ่งประเทศไทยได้เคยประสบมาเมื่อปี พ.ศ. 2547 และก่อให้เกิดความเสียหาย เป็นอย่างมากใน หลาย ๆ ด้าน ทั้งชีวิต ทรัพย์สิน สภาพจิตใจ เศรษฐกิจ เป็นประสบการณ์ที่เราต้องเรียนรู้ รู้จักเตรียมการทำให้ตนเองปลอดภัย การเตรียมป้องกันภัยในวันนี้เป็นมิติใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วม ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทุกคนต้องระลึกอยู่เสมอว่าทุกคนเป็นจิ๊กซอว์ เป็นส่วนสำคัญ เป็นห่วงโซ่เดียวกันในกระบวนการปฏิบัติ ด้วยแผน ด้วยเครื่องมือ และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ต่างเป็นขวัญกำลังใจซึ่งกันและกัน
ทั้งนี้ รัฐบาลได้ตระหนัก และให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมรับมือจากสาธารณภัยในรูปแบบต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง รวมกันทุกภาคส่วน รัฐบาลได้ให้ความสำคัญจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ ให้พร้อม ลดการสูญเสียและความเสี่ยงจากสาธารณภัยการจัดการในภาวะฉุกเฉิน และการฟื้นฟู เป็นไปตามระบบการจัดการที่เป็นมาตรฐานสากล
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีมั่นใจว่า การฝึกที่เกิดขึ้นจะช่วยให้ทุกหน่วยงานได้เข้าใจถึงบทบาท หน้าที่ตามกฎหมาย และแผนว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และจะช่วยในการนำไปสู่การบูรณาการการปฏิบัติในสถานการณ์จริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน นักท่องเที่ยว ให้มีความมั่นใจในศักยภาพ และความพร้อมด้านการจัดการสาธารณภัยของภาครัฐได้เป็นอย่างดี เพราะไทย อาเซียน และโลก คือหนึ่งเดียวกัน
จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปรับฟังบรรยายสรุปโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือน้ำลึกภูเก็ต ซึ่งเป็นเขื่อนเทียบเรือตามแนวฝั่งน้ำ มีทั้งท่าเรือสินค้าและท่าเรือโดยสาร มีขีดความสามารถในการบรรทุกขนถ่ายสินค้าทั่วไป 450,000 ตันต่อปี ปัจจุบันมีเรือท่องเที่ยวใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี จึงมีแผนพัฒนาในอนาคต ให้ท่าเรือภูเก็ตสามารถรองรับเรือโดยสารท่องเที่ยวขนาดใหญ่ ทั้งการขยายหน้าท่าเพิ่ม เพื่อให้สามารถจอดเรือโดยสารท่องเที่ยวและเรือสินค้าได้พร้อมกัน การก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารและร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึกพร้อมลานจอดรถ รวมทั้งการขยายร่องน้ำเพื่อให้เรือขนาดใหญ่เข้าเทียบท่าได้
…………………………….
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
matemnews.com
8 กรกฎาคม2562