นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. กล่าวว่าในวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 ดาวเสาร์จะโคจรมาอยู่ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ คือ ดวงอาทิตย์ โลก และ ดาวเสาร์เรียงตัวอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกันตามลำดับ เป็นผลให้ดาวเสาร์อยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี ห่างประมาณ 1,351 ล้านกิโลเมตร ตรงกับเวลาประมาณ 23.53 น. ตามเวลาประเทศไทย ในวันดังกล่าว ขณะดวงอาทิตย์ลับของฟ้า ดาวเสาร์จะปรากฎพ้นขอบฟ้าตรงข้ามกับพอดี หากฟ้าใสไร้ฝน จะสังเกตดาวเสาร์สุกสว่างด้วยตาเปล่าได้ตลอดทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้า
ทั้งนี้ดาวเสาร์จะปรากฏเหนือขอบฟ้าทาง ทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลาประมาณ 19:00 น. บริเวณกลุ่มดาวคนยิงธนู สังเกตได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจนในทุกพื้นที่ของประเทศไทย วงแหวนของดาวเสาร์มีความเอียงเป็นมุม 24.3 องศา เมื่อสังเกตด้วยกล้องสองตากำลังขยายตั้งแต่ 15 เท่าขึ้นไป หรือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กจะสามารถเห็นวงแหวนของดาวเสาร์ที่สวยงามได้ และดาวเสาร์จะตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก เวลาประมาณ 06:00 น. ของเช้าวันที่ 10 กรกฎาคม 2562
ทั้งนี้ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เตรียมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ตั้งกล้องโทรทรรศน์บริการประชาชนร่วมชม“ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี” วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 ตั้งแต่เวลา 18:00-22:00น. 4 แห่ง ได้แก่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.นครราชสีมา หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.ฉะเชิงเทรา และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.สงขลา รวมทั้งหน่วยงานเครือข่ายอีกกว่า 410 แห่งทั่วประเทศ โดยจะมีกล้องโทรทรรศน์ในโครงการกระจายโอกาส 77 จังหวัด เปิดฟ้าส่องโลกดาราศาสตร์ เปิดโอกาสเรียนรู้ทั่วหล้า จัดกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์และนำกล้องโทรทรรศน์มาให้บริการประชาชนอีกด้วย