วันที่ 17 ก.ค.62 นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และโฆษกกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรมได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงยุติธรรมเข้าช่วยเหลือและอำนายความสะดวกในการเข้าถึงความยุติธรรมแก่ผู้เสียหายกรณี “แพรวา 9 ศพ” หรือคดีอุบัติเหตุรถยนต์ฮอนด้าซีวิค เฉี่ยวชนกับรถตู้โดยสารบนโทลล์เวย์จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 9 ศพ และมีผู้บาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง ในส่วนของผู้เสียหายที่มีฐานะยากจน กระทรวงยุติธรรมจะให้กองทุนยุติธรรมเข้าไปช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเป็นค่าทนายความและการสืบทรัพย์ ขณะที่กรมบังคับคดีพร้อมอำนวยความสะดวกในขั้นตอนการบังคับคดีเช่นกัน โดยผู้เสียหายหรือฝ่ายโจทก์ต้องไปยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีแล้วนำหมายบังคับคดีไปตั้งเรื่องที่กรมบังคับคดี เพื่อให้มีอำนาจเข้าไปสืบทรัพย์
นายธวัชชัย กล่าวอีกว่า เมื่อเริ่มต้นขั้นตอนการบังคับคดีแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีจะสั่งอายัดทรัพย์ที่สืบพบแล้วนำออกขายทอดตลาด เพื่อนำเงินมาเฉลี่ยคืนตามความเสียหาย หากทรัพย์ที่นำออกขายทอดตลาดไม่เพียงพอต่อการชดใช้ค่าเสียหาย หรือมีมูลหนี้มากกว่า 1 ล้านบาท จะยื่นฟ้องขอให้ศาลสั่งให้จำเลยตกเป็นบุคคลล้มละลาย ไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศหรือทำธุรกรรมทางการเงินได้เป็นเวลา 3 ปี แม้พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายไปแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าจำเลยจะสบายหรือลั้นลา เพราะภาระความรับผิดก็ยังไม่หมดลง มูลหนี้ยังคงมีอยู่ จำเลยยังต้องทำงานชดใช้ค่าเสียหายจนกว่าจะครบตามคำพิพากษา หรือจนกว่าคดีจะขาดอายุความในการสืบทรัพย์เป็นระยะเวลา 10 ปี
“ผู้เสียหายหรือโจทก์มีอาการมึนงง เดินไม่เป็นกรณีลูกหนี้ซึ่งไม่ยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษา ทั้งนี้เมื่อครบเวลา 30 วันหลังศาลมีคำพิพากษา
หากลูกหนี้หรือจำเลยทำไม่รู้ร้อนรู้หนาว ทำหน้ามึน ผู้เสียหายจะต้องไปยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี เมื่อได้หมายบังคับคดีมาแล้ว จึงจะมีอำนาจเข้าไปสืบทรัพย์ว่าจำเลยมีทรัพย์สินอะไรบ้าง ซึ่งในชั้นนี้ยากที่สุด เพราะศักยภาพบุคคลทั่วไปนั้นยากต่อการเข้าถึงข้อมูล ต้องจ้างทนายความ คนจนคนด้อยโอกาสสามารถขอเงินค่าจ้างทนายความสืบทรัพย์ได้จากกองทุนยุติธรรมได้” รองปลัดกระทรวงยุติธรรมระบุ
นายธวัชชัย กล่าวอีกว่า ขอแนะนำให้จำเลยควรเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยจะดีที่สุด ส่วนผู้เสียหายหรือฝ่ายโจทก์ สามารถขอคำแนะนำช่วยเหลือได้ที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดทุกจังหวัด หรือศูนย์บริการร่วมกระทรวงยุติธรรม