วันที่ 21 ก.ค.62 ภัยแล้งหลายจังหวัดยังเพิ่มความรุนแรงกินพื้นที่กว้าง
ที่กว๊านพะเยา จ.พะเยา ปริมาณน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเหลือเพียง 9.67 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปริมาณความจุ 33 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะบริเวณประตูน้ำในสถานีประมง มีสภาพแห้งขอด เห็นสันดอนดินอย่างชัดเจน เจ้าหน้าที่ได้ทำการปิดประตูระบายน้ำ รวมถึงต้องใช้คันดินกั้นน้ำไว้ไม่ให้รั่วซึมออกไป แต่ท้ายน้ำยังคงมีน้ำเล็กน้อย เพื่อรักษาระบบนิเวศภายในลำน้ำอิง นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรรอบกว๊านพะเยา และความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่เริ่มไม่มีน้ำใช้อุปโภคบริโภคแล้ว
จ.เลย ปัญหาฝนทิ้งช่วงยาวนาน โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำหมาน เป็นอ่างเก็บน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรและน้ำดิบสำหรับการผลิตน้ำประปา ในเขตเทศบาลเมืองเลย และตำบลใกล้เคียง เหลือน้ำในอ่างเพียง 19% ของความบรรจุอ่าง ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบ 30 ปี การประปาส่วนภูมิภาค ประกาศให้งดสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำหมาน โดยให้การประปาฯ สูบน้ำจากแม่น้ำเลยแทน ขณะที่เกษตรกรก็เดือดร้อนอย่างหนักเช่นกัน ขาดแคลนน้ำเลี้ยงสัตว์
ขณะที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ นายศุภชัย มโนการ ผู้อำนวยการส่งน้ำและบำรุงรักษา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ยังคงวิกฤติ หลังได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ล่าสุดปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเหลื่อเพียงร้อยละ 4.82 หรือมีน้ำเหลืออยู่ 46 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จากปริมาณความจุอ่าง 960 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากไม่มีฝนตกลงมาในลุ่มน้ำป่าสักเลย ทำให้ไม่มีน้ำไหลลงอ่างของเขื่อน แต่ทางเขื่อนป่าสักฯ จำเป็นต้องระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อน เพื่อรักษาระบบนิเวศและใช้ในการอุปโภคบริโภค
จากสภาพน้ำที่ลดลงของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ในปีนี้ ทำให้มองเห็นชุมชนเก่า บ้านเรือน วัด ที่เคยจมอยู่ใต้เขื่อน โผล่ขึ้นมาให้ได้เห็นอีกครั้งในรอบหลายปี และจะเป็นจุดท่องเที่ยวอีกจุดของเขื่อนในช่วงหน้าแล้ง
สำหรับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ในปีนี้มีปริมาณน้ำน้อยเท่ากับปี 2558 ที่แล้งหนัก โดยมีปริมาณน้ำสะสมอยู่ในระดับเดียวกัน ขณะนี้ทางเขื่อนป่าสักได้มีการทำกาลักน้ำ เพื่อผันน้ำไปช่วยหมู่บ้านท้ายเขื่อน ให้มีน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภค และเนื่องจากปัจจุบันน้ำในเขื่อนมีปริมาณน้อย สำนักงานชลประทานที่ 10 จึงได้ดำเนินการส่งน้ำให้กับพื้นที่ 3 อำเภอของ จ.ลพบุรี ได้แก่ อ.สระโบสถ์ อ.โคกเจริญ และ อ.โคกสำโรง โดยทำการสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสัก ส่งน้ำตามระบบท่อ ไปยังพื้นที่ดังกล่าวอำเภอละ 10,000 ไร่ รวมพื้นที่กว่า 30,000 ไร่ อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำที่เหลืออยู่ ยังคงเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของราษฎรในพื้นที่