ตัวแทนรัฐบาลลาวและบริษัทซีเคพาวเวอร์ผู้ดูแลระบบเขื่อนไซยะบุรี ยืนยันเขื่อนไซยะบุรีไม่ได้กักเก็บน้ำ ปล่อยน้ำผลิตกระแสไฟฟ้าตามปกติ ระบุสาเหตุน้ำโขงแห้งน่าจะเป็นปัญหาภัยธรรมชาติ ผลเอลนีโญ และจีนไม่ยอมปล่อยน้ำ
วันที่ 23 ก.ค.2562 นายอานุภาพ วงศ์ละคร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด เปิดเผยว่า เขื่อนไม่ได้กักน้ำจึงไม่ใช่ต้นเหตุทำให้น้ำโขงน้อยกว่าปกติ ล่าสุดสภาพน้ำเหนือเขื่อนไซยะบุรีอยู่ที่ระดับ 2.75 เมตร ต่างกับพื้นที่ท้ายน้ำ 30 เมตร ซึ่งการบริหารน้ำในเขื่อนไซยะบุรีใช้วิธีน้ำเข้าเท่ากับน้ำออกไม่ว่าจะมีการผลิตไฟฟ้าหรือไม่
นายอานุภาพ ชี้แจงว่า การทดสอบระบบไฟฟ้าโรงไฟฟ้าไซยะบุรีไม่ได้สร้างผลกระทบให้กับปริมาณน้ำในลำน้ำโขงตั้งแต่ช่วง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย จนถึงเมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว มีปริมาณน้ำลดลง เพราะรูปแบบเขื่อนไซยะบุรีไม่ได้ถูกออกแบบมาเป็นเขื่อนกักเก็บน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าแต่เป็นระบบการผลิตไฟฟ้าการกำลังไหลของกระแสน้ำในลำน้ำโขงตามธรรมชาติ ซึ่งในรอบสัปดาห์นี้มีแรงน้ำไหลเข้าระบบเพียง 1,750 ลบ.ม./วินาที จากปกติจะต้องมีแรงน้ำไหลเข้าระบบในอัตรา 4,000 ลบ.ม./วินาที เขื่อนจะสามารถเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 3 เครื่อง จากกำลังผลิตทั้งหมด 8 เครื่อง
ส่วนกรณีที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติทำหนังสือให้เขื่อนไซยะบุรียกเลิกการกักเก็บน้ำ นายอานุภาพ กล่าวว่าทางเขื่อนยังไม่ได้รับหนังสืออย่างเป็นทางการดังกล่าว ทั้งนี้ยอมรับว่า สถานการณ์เอลนินโญทำให้ปริมาณน้ำที่วัดได้ในปีนี้น้อยที่สุดในรอบ 100 ปี ประกอบกับน้ำที่ไหลสู่ลำน้ำโขงมาจากเขื่อนจิ่งหง ร้อยละ 60 ที่เหลือมาจากแม่น้ำสาขา ซึ่งสังเกตได้ว่าเขื่อนจิ่งหงมีการกักเก็บน้ำทำให้น้ำไหลเข้าลำน้ำโขงน้อยมากไม่ใช่แค่ไทยที่ได้รับผลกระทบ แต่ประเทศลาวตลอดแนวแม่น้ำโขงก็เดือดร้อนเช่นกัน มีข้อเสนอว่าคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ที่ประกอบด้วยไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม ควรดึงเมียนมา และจีน เข้ามาร่วมหารือด้วยเพื่อให้มีการบริหารน้ำในแม่น้ำโขงอย่างมีประสิทธิภาพ