นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง แถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มีวงเงินรวม 3.16 แสนล้านบาท ทั้งการช่วยเหลือเกษตร ดูแลค่าครองชีพ และการท่องเที่ยว เบื้องต้นทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ประเมินว่า ด้วยมาตรการนี้หากทำได้เสร็จตามเป้าหมายจะมีผลต่อจีดีพีประมาณ 0.5-0.6%
จากนี้กระทรวงการคลังจะประสานกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานอื่นๆ ประชาสัมพันธ์มาตรการให้ประชาชนรับรู้ต่อไป
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า มาตรการที่กระทรวงการคลังเสนอมามีทั้งหมด 3 ด้าน เริ่มจากมาตรการบรรเทาค่าครองชีพผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทุกคนที่ถือบัตรฯ จำนวน 14.5 ล้านคน จะได้รับการเติมเงินพิเศษเพิ่มคนละ 500 บาท รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่ถือบัตรฯ จะได้รับเดือนละ 500 บาท เช่นกันเป็นเวลา 2 เดือน ระหว่างส.ค.-ก.ย.นี้ และผู้ถือบัตรฯ ที่มีบุตรตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ปี จะได้เดือนละ 300 บาท เป็นเวลา 2 เดือน เช่นเดียวกัน โดยให้ไปใช้ซื้อสินค้าและบริการที่จำเป็น
อีกมาตรการคือ การช่วยกองทุนหมู่บ้านที่มีหนี้สะสม ด้วยการพักชำระหนี้เงินต้นให้กับกองทุนฯ 1 ปี เพื่อนำเงินไปบริหารจัดการและดูแลสมาชิกกองทุน
การช่วยเหลือภัยแล้ง ทั้งการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับลูกค้าธนาคาร ธ.ก.ส. เหลือ 0.1% สำหรับต้นเงินกู้ที่ไม่เกิน 3 แสนบาท เป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่ 1 ส.ค.62 – 31 ก.ค.63
ขยายเวลาชำระหนี้เงินกู้ให้ลูกค้าธ.ก.ส. ไม่จำกัดวงเงิน เป็นเวลา 2 ปีนับจากงวดชำระเดิมแต่ไม่เกิน 31 ก.ค.64
ธ.ก.ส.จัดสินเชื่อฉุกเฉิน ไม่เกินรายละ 5 หมื่นบาท ไม่คิดดอกเบี้ยปีแรก พร้อมกับสินเชื่อฟื้นฟูความเสียหาย รายละไม่เกิน 5 แสนบาท
ผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 62/63 รัฐบาลจะช่วยค่าปลูกไร่ละ 500 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ แต่ให้เฉพาะชาวนาที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร
มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ รัฐจะสนับสนุนการใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตังของธนาคารกรุงไทย แยกเป็น 2 ต่อ
ต่อแรกได้รับเงินไปเที่ยวคนละ 1,000 บาท เพื่อซื้อสินค้าบริการกับผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนร่วมมาตรการ โดยต้องใช้ภายใน 14 วันหลังจากได้รับการยืนยัน
ต่อที่ 2 จะได้รับวงเงินคืนสูงสุด 15% ของยอดการจ่ายเงินจริง โดยสามารถใช้จ่ายไม่เกินคนละ 3 หมื่นบาท ผู้ที่จะได้รับต้องไปใช้จ่ายคาอาหาร เครื่องดื่ม ค่าที่พัก หรือซื้อสินค้าท้องถิ่น และต้องใช้จ่ายนอกจังหวัดที่ระบุไว้ในทะเบียนบ้าน โดยจะเปิดลงทะเบียนผ่านเว็ปไซต์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตั้งแต่ 23 ก.ย.- 15 พ.ย.62 หรือจนกว่าสิทธิจะหมด ซึ่งสามารถท่องเที่ยวได้ภายในวันที่ 27 ก.ย. – 30 พ.ย.62 กำหนดไว้เพียง 10 ล้านคนแรกเท่านั้น
ที่มีข่าวออกมาว่า คนจนที่ถือบัตรสวัสดิการ จะเข้าร่วมโครงการให้เงินไปเที่ยว 1,000 บาทไม่ได้ ขอยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง เพราะคนทุกคนจะได้รับสิทธินี้ทั้งหมด เพียงแค่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป แต่ต้องเข้ามาลงทะเบียนใช้สิทธิตามขั้นตอน เหมือนกับคนอื่นๆที่ต้องการเข้ามารับสิทธิ
มาตรการยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจีน และอินเดีย เป็นเวลา 1 ปี ที่ประชุมครม.ไม่เห็นชอบ แต่เห็นชอบให้ต่ออายุมาตรการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียม วีซ่าออนอาร์ไรวัล หรือวีซ่าหน้าด่าน จากที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ต.ค.62 ให้ขยายเวลาไปอีก 6 เดือน ถึงสิ้นสุดในวันที่ 30 เม.ย.63 แทน
มาตรการอื่นๆ เช่น การช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายย่อย ที่ไม่สามารถขอสินเชื่อกับธนาคารได้ จะใช้กองทุน สส. จำนวน 1 หมื่นล้านบาทไปช่วยสนับสนุน คิดดอกเบี้ยต่ำ 1% ต่อปี
เอสเอ็มอีทั่วไปจะมีสินเชื่อจากธนาคารออมสินและกรุงไทย วงเงินรวม 1 แสนล้านบาท สนับสนุน คิดดอกเบี้ยเริ่มต้น 4% ต่อปี
ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อวงเงิน 1.5 แสนบาท ชดเชยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 30% และฟรีค่าธรรมเนียม 2 ปี ผู้ประกอบการอื่นๆ ที่มีค่าใช้จ่ายลงทุนเครื่องจักรในช่วง 1 ก.ย.62 – 31 พ.ค.63 สามารถหักรายจ่ายลงทุนได้ 1.5 เท่า
matemnews.com
20 สิงหาคม 2562