พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.ให้สัมภาษณ์นักข่าวที่ บก.ทบ.ถนนราชดำเนินนก เมื่อ 11 น.วันที่ 30 ส.ค.2562 ว่า
“เมื่อวันที่ 29 ส.ค. สหรัฐฯ ได้ส่ง รถเกราะสไตรเกอร์ถึงประเทศไทยจำนวน 2 คัน โดย พลเรือเอก ฟิลลิป เอส เดวิดสัน ผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐภาคพื้นอินโดแปซิฟิค มารอรับด้วย ที่ท่าอากาศยานทหาร 2กองบิน 6 ดอนเมือง ตามสัญญาจะมีการส่งมอบให้ครบ 60 คันภายในสิ้นปีนี้ เป็นไปตามการจัดหาในปีงบประมาณ 2562 ที่ ทบ.ได้ซื้อจำนวน 37 คัน และ สหรัฐฯให้เปล่าอีก 23 คัน สำหรับปีงบประมาณหน้าคาดว่ามีงบประมาณพอที่จะจัดซื้อเพิ่มเติมอีก 50 คัน และสหรัฐฯอาจให้เปล่าอีก30 คัน จะทำให้กองทัพบกไทยจัดตั้งกรมยานเกราะล้อยางสไตรเกอร์ ที่มียานเกราะบรรจุในอัตรา 100 กว่าคัน ยานเกราะสไตรเกอร์มีหลายรุ่น เช่น M1126, M1127,M1129 โดย 60 คันแรก จะเป็น M1126 และ M1127 คละกัน มีการติดเครื่องยิงลูกระเบิดขนาด 120 ม.ม.โดยแต่ละรุ่นออกแบบมาใช้ในภารกิจต่างกัน ขึ้นอยู่กับอัตราการจัดของหน่วย โดยราคาแต่ละรุ่นไม่แตกต่างกันมากนัก ระหว่างนี้กำลังพล 30 นายของ ทบ.กำลังไปฝึกที่สหรัฐฯ และสหรัฐฯเองก็ได้ส่งช่างซ่อมมาสนับสนุนเราด้วย เพราะถือว่ายังเป็นยุทโธปกรณ์ที่สหรัฐฯ ใช้อยู่ ซึ่งจะแตกต่างจากการซื้ออาวุธในโครงการความช่วยเหลือทางด้านทหารของสหรัฐฯ หรือ ระบบ เอฟเอ็มเอสที่ผ่านมา เช่น รถถังบางประเภทที่ไม่ได้ใช้งาน หรือโอนไปให้หน่วย National Guard ใช้ ก็จะจำหน่ายให้ประเทศอื่นได้ แต่สำหรับสไตรเกอร์ แล้ว ทาง ผบ.กกล.สหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิค ยืนยันว่า เป็นยานเกราะที่สหรัฐฯใช้ประจำการอีกไม่ต่ำกว่า 10 ปีแน่นอน เพราะฉะนั้นเรื่องอะไหล่ สแปร์พาร์ท จะดูแลเป็นพิเศษ
ที่มีข้อมูลทางเว็บไซต์ว่าสไตร์เกอร์เป็นยานเกราะเก่ามือสอง หลายสื่อพยายามไปหาข้อมูล แต่อยากให้เข้าใจว่ายานเกราะที่ ทบ.ไทยซื้อเป็นยานเกราะ Refurbished เครื่องยนต์ถูก เซ็ตซีโร่ สีของตัวรถ เบาะของพลประจำรถมีการเปลี่ยนใหม่หมด เป็นแบบ Level A ไม่ใช่เป็นการซื้อตามสภาพ บางคันกลับจากภารกิจในอิรัก อัฟกานิสถาน แล้วนำมาเปลี่ยนชิ้นส่วนที่สำคัญทุกอย่างให้ ทั้งระบบเครื่องยนต์ ระบบขับเคลื่อน ยาง เขาใส่ใจเพราะเป็นรถที่ทบ.สหรัฐฯใช้ประจำการอยู่ ถือได้ว่ากองทัพบกสหรัฐ โดยเฉพาะรัฐบาลสหรัฐฯ ออกมาแสดงท่าทีชัดเจนในการที่รัฐบาลที่มีการเลือกตั้ง มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี มีผู้นำสหรัฐฯ หลายระดับให้ความสนใจและให้การสนับสนุน ส่วนการสนับสนุนด้านการทหารเป็นไปตามโครงการเอฟเอ็มเอส และ ทุนการศึกษา IMET ให้กำลังพลในกองทัพ การกลับมาของสหรัฐ ครั้งนี้คงมีความช่วยเหลือต่างๆ อีกเยอะ โดย วันที่ 7-8 ก.ย.นี้จะมีการประชุมผู้บัญชาการทหารบกภาคพื้นแปซิฟิคซึ่งเป็นเจ้าภาพร่วมกันระหว่างกองทัพบกไทยและสหรัฐฯ จะมีผบ.ทบ.32ประเทศร่วมปรึกษาหารือ ทั้งนี้เป็นไปตามแผนงานอินโดแปซิฟิคของ ทบ.สหรัฐฯ
นักข่าวถาม จะสะท้อนให้สาธารณชนรับทราบได้อย่างไรว่า ทำไมต้องซื้ออาวุธเยอะขนาดนี้ทั้งที่ไทยไม่มีภัยคุกคามเรื่องการสู้รบแล้ว ตอบ
“เดี๋ยวพูดไปก็ไปเข้าเรื่องการเมืองอีก ไม่เป็นไร รอให้มาเยอะๆ ก่อน”
matemnews.com
30 สิงหาคม 2562