Home มาเต็มกัญชา ไวจัง  – อนุทิน โดนกัญชง-กัญชาไล่ล่าซะแร่ว

ไวจัง  – อนุทิน โดนกัญชง-กัญชาไล่ล่าซะแร่ว

462
0
SHARE

 

เฟชบุ้ค  ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เปิดจดหมายภาคประชาสังคมกัญชาฯคัดค้านประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดล็อกเสปกกัญชงเข้มกว่าเดิม

 

 

๒ กันยายน 2562

 

เรื่อง ขอให้พิจารณาทบทวนประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภทที่ ๕ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๒

 

เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

 

​ตามที่ท่านได้ลงนามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภทที่ ๕ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๒ ลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๒ ตามอ้างถึง ๑. นั้น โดยได้ปรากฏว่ามีการกำหนดคุณสมบัติของกัญชง หรือ เฮมพ์ ที่เข้มงวดมากกว่ากฎกระทรวงเมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๕๙ ตามอ้างถึง ๒. โดยยังไม่มีความชัดเจนว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อพันธุ์พืชกัญชงไทยและเกษตรกรไทย และสุ่มเสี่ยงที่จะจำกัดการสกัดเฉพาะกลุ่มนักธุรกิจรายใหญ่เท่านั้น จึงขอให้ท่านได้โปรดพิจารณาหาข้อเท็จจริงแล้วทบทวนในประเด็นดังต่อไปนี้

 

​๑. ไม่มีมาตรฐานโลกในเรื่องสาร THC ในกัญชง

ตามอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. ๑๙๖๑ และพิธีแก้ไขอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. ๑๙๖๑ ค.ศ. ๑๙๗๒ ตลอดจนอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการลักลอบค้ายาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ซึ่งรับเอาโดยสหประชาชาติเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๘๘ มีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกัญชาและกัญชงดังต่อไปนี้

 

๑.๑ ตามมาตรา ๔ (ค) ข้อผูกพันด้วยไป อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. ๑๙๖๑ และพิธีแก้ไขอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. ๑๙๖๑ ค.ศ. ๑๙๗๒ ตามอ้างถึง ๓. ในฉบับภาษาอังกฤษต้นฉบับระบุเอาไว้ว่า

 

“ Article 4 The parties shall take such legistlative and administrative measures as may be necessary: (c) Subject to the provisions of this Convention to limit exclusively of medical and scientific pruposes the production, manufacture, export, import, distribution of, trade in, use and possession of drugs.”

 

แต่ฉบับภาษาไทยของ ปปส.ได้มีการแปลความตกหล่นสาระสำคัญในส่วนของ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ ซึ่งหากแปลข้อความดังกล่าวให้ครบถ้วนถูกต้องก็จะมีความหมายว่า

 

“มาตรา ๔ ภาคีทั้งหลายจะดำเนินการในทางนิติบัญญัติและการบริหารเท่าที่อาจจำเป็นเพื่อที่จะ

(ค) จำกัดการผลิต การทำ การส่งออก การนำเข้า การแจกจ่าย การค้า การใช้ประโยชน์ และการมีไว้ครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษต่างๆ เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์”

 

หมายความว่า ไม่มีการห้ามใช้ยาเสพติดเพื่อวัตถุประสงค์ที่จำกัดเฉพาะทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์แต่ประการใด การใช้กัญชาหรือกัญชงเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ไม่เป็นการละเมิดต่อข้อผูกพันอนุสัญญาระหว่างประเทศ เพียงแต่ว่ารัฐไทยจะต้องส่งข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการใช้ การผลิต การนำเข้า คงคลังยาเสพติดในการแพทย์และวิทยาศาสตร์ ให้แก่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษระหว่างประเทศ หากปริมาณคงคลังเหลือก็จะถูกหักโควต้าของปีถัดไป

 

๑.๒ “กัญชา” ใช้คำว่า “Cannabis” อันหมายถึง “พืชในตระกูลกัญชา” นั้นได้ถูกกำหนดให้เป็นยาเสพติดตามบัญชีที่ ๑ ของอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. ๑๙๖๑ และพิธีแก้ไขอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. ๑๙๖๑ ค.ศ. ๑๙๗๒ ตามอ้างถึง ๓. ดังนั้นไม่ว่ากัญชาหรือกัญชง (เฮมพ์, Hemp) ในขณะนี้ต่างก็ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของอนุสัญญาดังกล่าวเหมือนกันทั้งสิ้น ทั้งนี้การปลูกพืชกัญชาเพื่ออุตสาหกรรมโดยใช้ผลผลิตเส้นใยหรือเมล็ดกัญชา หรือปลูกในเชิงพืชสวนครัวการเกษตรขนาดเล็ก (Horticultural purposes) ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของอนุสัญญาฉบับนี้

 

๑.๓ เนื่องจากปัจจุบันไม่มีความแตกต่างระหว่างการปฏิบัติของกัญชาและกัญชง อนุสัญญาดังกล่าวจึงไม่เคยมีการกำหนดปริมาณร้อยละของสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอยด์ (Tetrahydrocannabinoid THC) เพื่อแยกแยะระหว่างกัญชากับกัญชง (เฮมพ์, Hemp) ดังนั้นการแยกระหว่างกัญชาและกัญชงจึงไม่มีข้อกำหนดปรากฏของอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. ๑๙๖๑ และพิธีแก้ไขอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. ๑๙๖๑ ค.ศ. ๑๙๗๒ แต่ประการใด

 

๑.๔ หลายประเทศมีการกำหนดแยกแยะระหว่างกัญชากับกัญชง โดยกัญชาจะมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอยด์ (Tetrahydrocannabinoid หรือ THC) ซึ่งมีสารออกฤทธิ์ทางจิตประสาทสูง ในขณะที่กัญชงหรือ เฮมพ์ (Hemp)จะมีสารแคนนาบิไดออล (Cannabidiol หรือ CBD) อยู่ในระดับสูง แต่มีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอยด์ (Tetrahydrocannabinoid หรือ THC)อยู่ในระดับต่ำ แต่ละประเทศจึงตรากฎหมายและมาตรการของแต่ละประเทศเองในการแยกแยะกัญชาและกัญชงออกจากวิธีการควบคุมที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของพันธุ์พืชของกัญชงและลักษณะภูมิอากาศที่แตกต่างกันจึงส่งผลทำให้มีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอยด์ (Tetrahydrocannabinoid หรือ THC)ที่แตกต่างกัน

 

ดังนั้นการแยกแยะกัญชงกับกัญชาจึงไม่เคยมีมาตรฐานสากล แต่จะมีกฎหมายของแต่ละประเทศในการยอมรับได้ของผลิตภัณฑ์กัญชงที่แตกต่างกันตามลักษณะพันธุ์พืชและภูมิอากาศ เพื่อให้ผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศสามารถปฏิบัติตามได้เท่านั้น ไม่ว่าด้วยพันธุ์พืช วิธีการปลูก หรือวิธีการสกัด ตัวอย่างเช่น “พืชกัญชง”ในสหภาพยุโรปกำหนดให้เพดานสาร THC ไม่เกินร้อยละ ๐.๒ ของน้ำหนักพืชกัญชง, ประเทศแคนนาดากำหนดให้มีเพดานสาร THC ไม่เกินร้อยละ ๐.๓ ของน้ำหนักพืชกัญชง, ประเทศสหรัฐอเมริกากำหนดให้ “พืชกัญชง” มีเพดานสาร THC ไม่เกินร้อยละ ๐.๓ ของน้ำหนักพืชกัญชง แต่เมื่อเป็นผลิตภัณฑ์ CBD แล้ว แต่ละรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกากลับกำหนดข้อจำกัดของสาร THC ไม่เหมือนกัน โดยอยู่ในช่วงร้อยละ ๐.๓ – ๕.๐ ปรากฏตามตารางตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๑. และ ๒.

 

ในขณะที่ประเทศอิตาลีก็มีการกำหนด “พืชกัญชง” ให้มีปริมาณเพดานสาร THC สูงกว่านั้น คือไม่เกินร้อยละ ๐.๖ ของน้ำหนักพืชกัญชง ในขณะที่อีกหลายพื้นที่ก็มีการกำหนด “พืชกัญชง” ให้มีเพดานปริมาณสาร THC สูงสุดไม่เกินร้อยละ ๑.๐ ของน้ำหนักพืชกัญชง เช่น ประเทศสวิสเซอร์แลนด์, ประเทศออสเตรเลีย ในมลรัฐนิว เซาท์ เวลซ์ และ ควีนส์แลนด์ เป็นต้น ปรากฏในเอกสารตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๑. ๒. และ ๓. ดังนั้นความเข้าใจที่ว่าการกำหนด THC ของกัญชงเป็นไปตามอนุสัญญาระหว่างประเทศนั้นจึงไม่ได้เป็นความจริงแต่ประการใด

 

๒. กฎกระทรวงสาธารณสุขเคยกำหนดกัญชงไทยให้มีสาร THC ไม่เกินร้อยละ ๑.๐ ของน้ำหนักใบดอกแห้ง

 

สำหรับกัญชงในประเทศไทยนั้น นายปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เคยออกประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภทที่ ๕ เฉพาะเฮมพ์ ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๙ โดยกำหนดกัญชงที่ปลูกได้นั้นมีสาร THC ไม่เกินร้อยละ ๑.๐ ของน้ำหนักใบและดอกแห้ง และเมล็ดพันธุ์พืชที่มี THC ไม่เกินร้อยละ ๑.๐ ของน้ำหนักใบและดอกแห้ง ตามอ้างถึง ๒. โดยไม่ได้สนใจในเรื่องสารสกัดหรือผลิตภัณฑ์ ซึ่งการกำหนดดังกล่าวนี้ไม่ต่างจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และบางมลรัฐในประเทศออสเตรเลีย ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๑. ๒. และ ๓. ซึ่งไม่เคยมีรายงานว่าการกำหนดดังกล่าวนี้เป็นการฝ่าฝืนต่อข้อกำหนดอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. ๑๙๖๑ และพิธีแก้ไขอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. ๑๙๖๑ ค.ศ. ๑๙๗๒ แต่ประการใด

 

นอกจากนั้นปรากฏตามเอกสารประกอบการบรรยายลักษณะองค์ประกอบสารสำคัญในพืชกัญชากัญชง (Characterisation of cannabinoid composition in Cannabis) โดย ประภัสสร ทิพย์รัตน์ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เชียงใหม่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สรุปความได้ว่ากัญชงสายพันธุ์แม่สาใหม่ ปางอุ๋ง และห้วยหอย มีปริมาณ THC ที่ระยะออกดอกเท่ากับ ๐.๗๖๒, ๐.๗๗๓ และ ๐.๘๖๖ โดยน้ำหนักตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๔. ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานที่สอดคล้องในการกำหนดค่ามาตรฐาน THC (THC maximum Limits) ที่ไม่เกินร้อยละ ๑.๐ เพื่อจำแนกกัญชาและกัญชงของประเทศไทย

 

๓. ทุกประเทศพยายามล็อกสเปกมาตรฐาน THC ในกัญชงให้ถอดออกจากบัญชียาเสพติดสากลเพื่อชิงความได้เปรียบทางการค้าระหว่างประเทศ

 

แต่ละประเทศที่ต้องการแสวงหาประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ พยายามที่จะกำหนดมาตรฐานเพดาน THC ในพันธุ์พืชและสภาพแวดล้อมของประเทศตัวเองเพื่อขอยกเลิกกัญชงต่อองค์การอนามัยโลกและเพื่อขอให้มีการถอนกัญชงออกจากบัญชีที่ ๑ ของอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. ๑๙๖๑ และพิธีแก้ไขอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. ๑๙๖๑ ค.ศ. ๑๙๗๒ ในการประชุมปีหน้า (พ.ศ. ๒๕๖๓) เพื่อพยายามล็อกสเปกเพดานสาร THC ในกัญชงชิงความได้เปรียบในเชิงพาณิชย์และธุรกิจของประเทศตัวเองเท่านั้น ไม่ใช่มาตรฐานสากลแต่ประการใด และประเทศไทยก็จำเป็นต้องมีผู้แทนที่ประสานงานกับประเทศแนวร่วมเพื่อทักท้วงในการประชุมเรื่องมาตรฐานความเป็นธรรมของ THC ในกัญชงให้สอดคล้องและเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยด้วย

 

​๔. หลักคิดมาตรฐานกัญชงไทยควรเปิดกว้างเพื่อเกษตรกรไทย ผู้ประกอบรายย่อย และผู้ส่งออกรายใหญ่ และเปิดโอกาสให้กลุ่มใต้ดินมาพัฒนาสายพันธุ์กัญชงไทย

 

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความได้เปรียบทางด้านฤดูกาลและมีระยะเวลาที่มีแสงแดดมากกว่าหลายประเทศ จึงย่อมมีความได้เปรียบในเรื่องของต้นทุนการปลูกพืชกัญชงในระบบเปิดกลางแจ้ง หรือ ในระบบกึ่งเปิดหรือกรีนเฮาส์ซึ่งมีต้นทุนไม่แพง โดยไม่ต้องใช้ระบบโรงปิดที่ต้องใช้แสงจากพลังงานไฟฟ้ามีต้นทุนที่สูงแต่เพียงอย่างเดียวเหมือนกับอีกหลายประเทศ

 

อย่างไรก็ตามพันธุ์กัญชงในประเทศไทยที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นสายพันธุ์ที่ให้ใยไฟเบอร์สูงแต่ให้ผลิตผลที่เป็นน้ำมันกัญชงในระดับต่ำ จึงยังคงต้องมีความจำเป็นในการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ต่างชาติเพื่อนำมาผสมพันธุ์และพัฒนาสายพันธุ์ไทยเพื่อให้เป็นพันธุ์กัญชงที่ให้สาร CBD สูงของประเทศไทยต่อไปโดยใช้การปลูกในระบบเปิดกลางแจ้ง หรือในระบบกรีนเฮาส์

 

แต่มิได้หมายความว่าจะต้องให้ประเทศไทยต้องใช้สเปกสูงสุดตามประเทศอื่นที่มีภูมิอากาศไม่เหมือนประเทศไทย เพราะหากเป็นเช่นนั้นก็จะทำให้การปลูกพืชกัญชงโดยอาศัยสเปกตามชาติอื่นก็จะนำไปสู่การกำหนดวิธีการปลูกที่ต้องควบคุมในระบบโรงปิดที่มีต้นทุนสูง เกษตรกรไทยไม่สามารถมีเงินลงทุนได้ อีกทั้งยังไม่สอดคล้องกับภูมิอากาศของประเทศไทยด้วย

 

ดังนั้นจึงควรเปิดช่องที่ทำให้มีกัญชงได้ใช้ในประเทศที่สอดคล้องกับภูมิอากาศแบบประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกันหากผู้ประกอบการที่ต้องการส่งออกไปยังต่างประเทศก็ต้องลงทุนทั้งการปลูกและการสกัดด้วยมาตรฐานที่สูงขึ้น จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นจึงควรกำหนด “มาตรฐานที่กว้างที่สุด” เพื่อเปิดโอกาสให้กับทั้งเกษตรกรไทย ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ที่ต้องการส่งออกไปต่างประเทศควบคู่กันไป

 

อนึ่ง ในปัจจุบันมีผู้ที่ปลูกกัญชงที่ได้ผสมพันธุ์กับต่างชาติจนมีพันธุ์กัญชงไทยผสมซึ่งมี CBD สูงอยู่ในตลาดใต้ดินของประเทศไทยหลายราย รัฐบาลควรเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้ได้มาร่วมงานกับรัฐอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อันจะนำไปสู่การถอดองค์ความรู้และพัฒนาคุณสมบัติของพันธุ์กัญชงไทยให้เร็วที่สุด

 

๕. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ๒ ฉบับล่าสุด ล็อกสเปกกัญชง “เข้มงวด”กว่ากฎกระทรวงเดิม

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ๒ ฉบับที่เกี่ยวข้องกับกัญชง ซึ่งประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๒ มีความเข้มงวดกว่าเดิมดังต่อไปนี้

 

๕.๑ ประกาศคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เรื่อง กำหนดลักษณะกัญชง (Hemp) พ.ศ. ๒๕๖๒ ลงนามโดยนายพิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยเอกสารระบุว่าได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๒ ตามอ้างถึง ๔. โดยสรุปความว่า

 

กัญชงต้องมีสาร THC ไม่เกินร้อยละ ๐.๕ ของน้ำหนักและใบแห้ง เข้มงวดกว่ากฎกระทรวงกระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี ๒๕๕๙ จากร้อยละ ๑.๐ เหลือร้อยละ ๐.๕

 

“เมล็ดพันธุ์รับรอง” ของกัญชงต้องเป็นสายพันธุ์ที่มี THC ไม่เกินร้อยละ ๐.๓ ของน้ำหนักใบและดอกแห้ง และต้องเป็นพันธุ์พืชที่ขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยพันธุ์พืช ซึ่งเข้มงวดกว่ากฎกระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี ๒๕๕๙ จากร้อยละ ๑.๐ เหลือร้อยละ ๐.๓

 

๕.๒ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ ๕ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๒ ตามเอกสารระบุว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ลงนาม โดยระบุว่าได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๒ ตามอ้างถึง ๑. โดยอาศัยมติของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษสรุปความเพิ่มเติมว่า

 

ถ้าเป็นสารสกัดหรือผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชงจะให้มีสาร THC ไม่เกินร้อยละ ๐.๒ และถ้าจะเรียกว่าแคนนาบิไดออล (CBD) ซึ่งเป็นสารไม่ออกฤทธิ์ทางจิตประสาทต้องสกัดให้บริสุทธิ์ถึงร้อยละ ๙๙ โดยให้มี THC ไม่เกินร้อยละ ๐.๐๑

 

ประกาศกระทรวงสาธารณสุขทั้ง ๒ ฉบับดังกล่าวข้างต้น ทำให้เกิดคำถามว่ากฎกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภทที่ ๕ เฉพาะเฮมพ์ ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๙ นั้น ได้กำหนดให้กัญชงและเมล็ดกัญชงที่ให้ใบและดอกแห้งมีสาร THC ไม่เกินร้อยละ ๑.๐ นั้น อยู่บนพื้นฐานเมล็ดและการปลูกในระบบเปิดกลางแจ้งของประเทศไทยใช่หรือไม่

 

ดังปรากฏตัวอย่างว่ากัญชงสายพันธุ์แม่สาใหม่ ปางอุ๋ง และห้วยหอย มีปริมาณ THC ที่ระยะออกดอกเท่ากับ ๐.๗๖๒, ๐.๗๗๓ และ ๐.๘๖๖ โดยน้ำหนักตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๔. และเนื่องจากการกำหนดที่เข้มงวดกว่าเดิมนี้ไม่สอดคล้องกับพันธุ์กัญชงของประเทศไทย จึงขอสอบถามว่ามีข้อมูลพื้นฐานจากเมล็ดพันธุ์ใดและระบบการปลูกเป็นอย่างไร และการกำหนดเช่นนี้จะเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรไทยและการพัฒนาสายพันธุ์ไทยได้หรือไม่ และจะนำไปสู่ระบบการปลูกอย่างไร ใช่ระบบโรงปิดที่มีต้นทุนสูงใช่หรือไม่ หรือจะนำไปสู่ต้นทุนการผลิตอื่นอย่างไร

 

​ส่วนอีกประการหนึ่ง คือการกำหนดนิยามของสาร CBD ที่ต้องสกัดให้บริสุทธิ์ถึงร้อยละ ๙๙ โดยมีสาร THC ไม่เกินร้อยละ ๐.๐๑ นั้น เป็นการล็อกสเปกที่เข้มงวดเกินไปหรือไม่ และทำให้เป็นการจำกัดเฉพาะการลงทุนขนาดใหญ่เพียงไม่กี่บริษัทเกินความจำเป็นหรือไม่ อีกทั้งยังมีคำถามว่าการกำหนดผลิตภัณฑ์ CBD เช่นนี้เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพดีจริงหรือไม่เมื่องานวิจัยปรากฏในวารสารทางการแพทย์ Frontiers in Neurology ฉบับวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๒ รายพบว่าสารสกัด CBD บริสุทธิ์ มีประสิทธิภาพต่อสุขภาพ “ด้อยกว่า”สารที่ได้จากกัญชงที่มี CBD สูงโดยไม่ต้องถึงขั้นบริสุทธิ์ ตามอ้างถึง ๕.

 

 

​จึงเรียนมาเพื่อให้ท่านได้พิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงและทบทวนประกาศดังกล่าว เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ขอให้ท่านได้พิจารณายกเลิกประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุขทั้ง ๒ ฉบับ หรือมิเช่นนั้นก็กำหนดเฉพาะตามที่เคยกำหนดเอาไว้ในกฎกระทรวงแต่เพียงว่ากัญชงที่ปลูกได้นั้นมีสาร THC ไม่เกินร้อยละ ๑.๐ ของน้ำหนักใบและดอกแห้ง และเมล็ดพันธุ์พืชที่มี THC ไม่เกินร้อยละ ๑.๐ ของน้ำหนักใบและดอกแห้งเป็นการชั่วคราวเหมือนกับประเทศอื่น จนกว่าจะมีความชัดเจนและมีข้อยุติว่ากัญชงไทยที่พัฒนาสายพันธุ์แล้วให้ CBD สูง โดยการปลูกในระบบเปิดกลางแจ้ง หรือ ระบบกึ่งเปิดกรีนเฮาส์นั้นจะมีเพดานของสาร THC ไม่เกินเท่าไหร่ โดยควรเปิดโอกาสให้ผู้ที่ปลูกกัญชาและกัญชงในตลาดใต้ดินได้มาร่วมงานกับรัฐอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อันจะนำไปสู่การถอดองค์ความรู้และพัฒนาคุณสมบัติของพันธุ์กัญชงไทยให้เร็วที่สุดต่อไป

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอ

ขอแสดงความนับถือ

 

ผู้แทนเครือข่ายประชาสังคมกัญชาเพื่อการแพทย์สำหรับประชาชน

 

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต

 

นางสาวรสนา โตสิตระกูล

ผู้แทนมูลนิธิสุขภาพไทย

 

หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรี

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต

 

Matemnews.com

2 กันยายน 2562