ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เปิดเผยว่า จากสถานการณ์หมอกควันในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ หลายจุดมีค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน กระทรวงสาธารณสุข จึงมีความห่วงใยประชาชน เนื่องจากคุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับปานกลางถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ ประชาชนอาจสูดดมเข้าสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงเจ็บป่วยได้ง่าย เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ รวมทั้งผู้ที่มีโรคประจำตัว จึงได้เตรียมการให้โรงพยาบาลทุกระดับที่อยู่ในพื้นที่ จัดเตรียมเครื่องมือแพทย์ เวชภัณฑ์ ยาประจำห้องฉุกเฉินต่าง ๆ เพื่อให้บริการประชาชนที่เจ็บป่วยจากการสูดดมมลพิษหมอกควันได้อย่างทันท่วงที
ซึ่งนอกจากการดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพแก่ประชาชนในพื้นที่แล้ว สิ่งสำคัญคือขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์และปฏิบัติตามข้อแนะนำของทางราชการอย่างเคร่งครัดซึ่งจะทำให้ทราบข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับปัญหาหมอกควัน รวมทั้งมีความรู้ความเข้าใจ และทราบแนวทางการปฏิบัติเพื่อดูแลตัวเองและคนในครอบครัวปลอดภัยจากพิษของหมอกควัน
รมช.สธ.กล่าวต่อไปว่าการปฏิบัติตัวที่สำคัญ คือ หลีกเลี่ยงการออกนอกสถานที่รวมทั้งทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงข้างต้น ควรพักผ่อนอยู่ในบ้าน ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด เตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อมงดเว้นการสูบบุหรี่ เผาหญ้า ต้นไม้ หรือขยะต่าง ๆ หลีกเลี่ยงกิจกรรมการใช้แรงมาก เช่น การออกกำลังกายในที่โล่งแจ้ง เนื่องจากจะเพิ่มการหายใจเอาอากาศเข้าสู่ร่างกาย 10-20 เท่าตัว ใช้หน้ากากอนามัยปิดปากและจมูก จะทำให้ห่างไกลจากมลพิษทางอากาศได้
ด้าน นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “ขอให้โรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ทุกวัน หากพบฝุ่นมีความหนาแน่นสูงขอให้เปิดคลินิกมลพิษในโรงพยาบาล ประสานหน่วยงานในพื้นที่ออกให้ความรู้ประชาชน แจกหน้ากากอนามัยในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ และเฝ้าระวังการเจ็บป่วยใน 4 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบผิวหนัง และระบบตา”
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า หมอกควันจัดเป็นมลพิษทางอากาศชนิดหนึ่งที่เกิดจากการสะสมของควันหรือฝุ่นละอองในอากาศ ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อระบบต่าง ๆของร่างกาย ซึ่งมลพิษจากหมอกควันที่เกิดขึ้นขณะนี้ จึงเป็นอันตรายและมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยจะมีอาการเบื้องต้น คือระคายเคืองดวงตา จมูก คอ ทางเดินหายใจ เช่น คันบริเวณตา แน่นจมูก เจ็บคอ ไอ หายใจลำบาก นอกจากนี้เมื่อเกิดมลพิษทางอากาศจะทำให้คนที่เป็นโรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแสดงอาการมากขึ้น
จากการศึกษาพบว่า โอโซน จะเข้าไปทำลายเนื้อปอดอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่มีอาการเลย ผู้ที่เป็นโรคปอดและหัวใจจะเป็นกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็ก หญิงตั้งครรภ์จะทำให้มีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีความไวต่อผลของมลพิษทางอากาศ ดังนั้น ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือเป็นกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว หากพบอาการผิดปกติต่าง ๆในร่างกาย เช่น หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ไอ ตาอักเสบ แน่นหน้าอก ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ให้รีบพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน