Home ข่าวทั่วไปรอบวัน IMF  ไม่อ้ำอึ้งแถลงข่าวโครม – จีดีพีไทยปีนี้เติบโตร้อยละ 2.9

IMF  ไม่อ้ำอึ้งแถลงข่าวโครม – จีดีพีไทยปีนี้เติบโตร้อยละ 2.9

2502
0
SHARE

 

 

https://bit.ly/2MNofkO

ไอเอ็มเอฟ หั่นจีดีพีไทยปีนี้เติบโตร้อยละ 2.9 ส่วนปี 63 โตร้อยละ 3

ธปท.25 ต.ค. -ไอเอ็มเอฟคาดจีดีพีไทยปีนี้เติบโตร้อยละ 2.9  ส่วนปี 2563 เติบโตร้อยละ 3 จากผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐ – จีน แนะไทยใช้นโยบายการคลังผนึกการเงิน ประคองเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดลง

 

นายโจนาธาน ออสทรี รองผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียและแปซิฟิก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)ออกรายงาน ภาพรวมรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ว่า ไอเอ็มเอฟคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย(จีดีพี) ปี 2562 เติบโตร้อยละ 2.9  ซึ่งเป็นการปรับประมาณการณ์ลดลงจากเดิมที่เคยประเมินไว้เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาที่คาดว่าโตร้อยละ 3.5 เนื่องจากผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากผลของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ขณะที่ปี 2563 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ร้อยละ 3

 

อย่างไรก็ตามไอเอ็มเอฟเห็นว่าประเทศไทยสามารถใช้นโยบายการคลังและนโยบายการเงิน เพื่อประคองภาวะเศรษฐกิจไทยไม่ให้ทรุดตัวลง รวมทั้งควรส่งเสริมนโยบายการออมเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

 

ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟ คาดการณ์เศรษฐกิจเอเชียขยายตัวร้อยละ 5 ในปีนี้และร้อยละ 5.1 ในปี 2563  ชะลอตัวลงจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากการค้าและการลงทุนชะลอตัวลงมากจากมาตรการกีดกันทางการค้าและความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจโลกกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการผลิต ซึ่งไอเอ็มเอฟเตือนว่า ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจโลก คือ ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักชะลอตัวกว่าที่คาด ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ความเสี่ยงจากการแยกตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปแบบไร้ข้อตกลง เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงเร็วกว่าที่คาดไว้  ความตึงเครียดภายในภูมิภาค และความเสี่ยงจากภัยพิบัติธรรมชาติที่สูงขึ้น

 

อย่างไรก็ตามไอเอ็มเอฟแนะให้ประเทศต่างๆ ใช้นโยบายการคลัง การเงิน ที่มีอยู่สนับสนุนการขยายตัวของการบริโภคในประเทศ พร้อมให้ระมัดระวังผลกระทบจากภาวะการเงินโลกที่ผ่อนคลายมากขึ้น จะทำให้เกิดการก่อหนี้มากขึ้นและเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน  ดังนั้นประเทศที่มีความเสี่ยงต้องมีมาตรการลดปัญหาหนี้สินภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน

 

นอกจากนี้ในรายงานของไอเอ็มเอฟยังเป็นห่วงกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีปริมาณมากเกินไป และมีความผันผวนซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจแก่ประเทศผู้รับ ดังนั้นประเทศต่างๆ ควรมีมาตรการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย และมาตรการ Macroprudential ดูแลเสถียรภาพการเงิน . – สำนักข่าวไทย

 

 

matemnews.com 

25 ตุลาคม 2562