เฟชบุ้ค Aaron Puranasamriddhi
“การบินไทย แบกค่าจ้างพนักงานหลังแอ่น ทำงานน้อยกว่าค่าจ้าง จริงหรือ?
จากข่าวหนังสือพิมพ์ที่พาดหัวว่า ”การบินไทย แบกค่าจ้างพนักงานหลังแอ่น ทำงานน้อยกว่าค่าจ้าง “
แล้วได้มีการยกคำสัมภาษณ์ของ รมต ศักดิ์สยามว่า
“ให้หาแนวทางลดรายจ่ายด้านพนักงาน ซึ่งถือว่าเป็นภาระค่าใช้จ่ายหลักในบัญชีทางการเงิน ด้วยปริมาณบุคลากรที่มีจำนวนมาก ทำให้ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ในแต่ละปีไปกองอยู่ที่ค่าตอบแทนพนักงานตลอดจนบริหารอัตรากำลังพลพนักงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”
และประเด็น “ปัจจุบันการบินไทยมีพนักงานต้อนรับ 6,000 คน ขณะที่จำนวนเครื่องบินที่ใช้ได้มี 80 ลำ หรือเฉลี่ยพนักงาน 75 คนต่อลำ ซึ่งพนักงานทุกคนไม่สามารถบริการในเครื่องบินทุกประเภทได้ ดังนั้นจึงทำให้เกิดช่องโหว่ในเรื่องค่าใช้จ่ายที่มากกว่างานปฏิบัติจริง จึงเสนอแนะให้ทยอยฝึกพนักงานทุกคนให้สามารถบริการได้ในทุกประเภทเครื่องบิน ตลอดจนหมุนเวียนพนักงานไปทำหน้าที่อื่นเพื่อให้พนักงานทุกคนได้ทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ ตลอดจนนำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนการทำงานของบุคลากร เพื่อนำงบประมาณไปพัฒนาด้านอื่นต่อไป”
ทำให้คนที่อ่านข่าวแล้ว ถ้าไม่ทราบความจริงในระบบงานของการบินไทยจะเข้าใจว่าคนการบินไทยมีมากเกินความจำเป็นและทำงานสบาย ในฐานะพนักงานคนนึงขอพูดแทนเพื่อนๆว่า
- พนักงานการบินไทย”เยอะเกินไป”จริงไหม?
การบินไทยมีงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการบินหลายฝ่ายที่มีลักษณะงานแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เช่น ซ่อมเครื่องบิน ทำอาหาร ขนส่งสินค้าทั้งจากในและนอกประเทศ ลำเลียงกระเป๋าผู้โดยสารจากอาคารสนามบินไปขึ้นเครื่องและจากเครื่องมาอาคาร เช็คอินผู้โดยสารที่เคาน์เตอร์ เช็คผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่อง ขับรถเติมน้ำ ดูดส้วม ทำความสะอาดบนเครื่อง ฯลฯ (นี่แค่ส่วนนึงนะครับ) เรียกรวมๆว่า”พนักงานภาคพื้น” ซึ่งงานเหล่านี้ต้องใช้ “คน” ในการทำงานทั้งสิ้น และต้องมีความชำนาญในงานของตน เพื่อให้งานลุล่วงไปแต่ละวัน เพราะมักจะมีปัญหาเฉพาะหน้าเกิดขึ้นให้ต้องแก้ไข
ในขณะเดียวกันการบินไทยดูแลสายการบินอื่นๆอีกไม่ต่ำกว่า 50 สายการบิน ในขณะที่งานมีปริมาณ”มาก” แต่การบินไทยแทบไม่ได้รับพนักงานภาคพื้นมากว่า 10 ปีแล้ว อย่างในหน่วยงานผมเอง พนักงานที่อายุต่ำสุดคือ 43 ปี อายุเฉลี่ยพนักงานทั้งการบินไทยคือ 45 ปี (เพราะมีลูกเรือที่รับมาเมื่อ 2 ปีที่แล้วมาเฉลี่ยอายุพนักงานของทั้งบริษัท)
ทุกปีบริษัทจะมีพนักงานตาย ลาออก เกษียณ ไปเป็นจำนวนมาก ลองมาดูไหมครับว่า พนักงานภาคพื้นในวันนี้ “เกิน” หรือ “ขาด” กันแน่ ปีนี้เกษียณไป 300 กว่าคน ปีหน้าจะเกษียณอีก “500 กว่าคน” ตอนนี้ยังหาทางแก้ปัญหาคนขาดไม่ได้เลย เพราะบอร์ดไม่ให้รับ
2.ใช้ลูกเรือไม่คุ้ม เพราะลูกเรือบินได้แค่ 3 แบบเครื่องบิน ?
พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินในวันนี้มี 6,000 กว่าคน และ 1 คนบินได้ไม่เกิน 3 แบบเครื่องบิน”จริง”
สาเหตุมาจากกฏของ CAAT (กรมการบินพลเรือน)กำหนดไว้ เพราะในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินบนเครื่องบิน ลูกเรือต้องพาผู้โดยสารออกจากเครื่องและการใช้อุปกรณ์ฉุกเฉินที่แตกต่างกันในแต่ละแบบเครื่องบิน ซึ่งแม้จะไม่ค่อยเกิดขึ้น แต่หน้าที่หลักของลูกเรือคือ”หน้าที่เกี่ยวกับความปลอดภัยและแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินบนเครื่อง ” เพื่อให้เกิดความชำนาญ จึงกำหนดให้ไม่เกิน 3 แบบเครื่องบิน. แต่ลูกค้ามักเข้าใจว่าลูกเรือมีหน้าทีคือเสริฟอาหารเท่านั้น
ปัจจุบัน ชั่วโมงบินเฉลี่ยของลูกเรือการบินไทย ใช้อยู่ที่ 80 ชั่วโมง ทำให้การจัดตารางบินแน่นมาก เช่น บินยุโรปเที่ยวหนึ่ง ไปกลับ ประมาณ 20-22 ชั่วโมงบนฟ้า ไปแล้วได้พักเพียง 24 ชั่วโมงต้องบินกลับเลย กลับมาต้องมีเวลาพักผ่อนไม่น้อยกว่าที่ กฏการบินกำหนดไว้ เพื่อให้พักผ่อนเพียงพอ ที่จะดูแลความปลอดภัยในเที่ยวบินต่อไปได้ แล้ววันนี้ลูกเรือขาดเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ให้รับเพิ่ม ทำให้เราต้องลดคนลงในแต่ละไฟลท์ลง แต่เราไม่ลดการบริการลง ทำให้ยิ่งต้องทำงานหนักขึ้นกว่าเดิม ลองถามลูกเรือซิครับ เห็นเดินหน้ายิ้มๆ แต่ภายในเค้าเหนื่อยกันแค่ไหน
สำหรับกระบวนการรับลูกเรือ ไม่ใช่ว่ารับวันนี้พรุ่งนี้บินได้ แต่ต้องผ่านการอบรมเกือบ 3 เดือน ดังนั้นการชะลอออกไปจะส่งผลกระทบต่อการทำงานรวมถึงค่า OT ที่ต้องจ่ายแก่ลูกเรือที่ต้องบินเกิน 70 ชั่วโมงซึ่งสูงกว่าการจ้างลูกเรือใหม่ๆเข้ามาซะอีก
3.ทำไมการบินไทยจึงมีเครื่องบินหลายแบบ ?
ก็เพราะการบินไทยมีเส้นทางบินที่หลากหลายทั้งระยะใกล้ ระยะกลางและระยะไกล จึงมีความจำเป็นในการใช้เครื่องบินที่แตกต่างกันไป
ถาม”การบินไทยอยากมีเครื่องบินน้อยแบบหรือไม่”
ตอบ “เป็นความต้องการสูงสุดของการบินไทย” เพราะทำให้เราไม่ต้อง stock อะไหล่เครื่องบินหลายแบบ และสามารถใช้พนักงานทุกฝ่ายได้อย่างเต็มที่
แล้ว “ทำไมไม่ทำแหละ” ก็ต้องกลับไปถาม”นักการเมือง” และ “รัฐบาล” สิครับ เพราะสิ่งที่ประชาชนอาจไม่รู้คือ “เบื้องหลัง”การเจรจาการเมืองระหว่างประเทศกับอเมริกาและยุโรปเพื่อแก้ปัญหาต่างๆโดยเฉพาะการช่วยการส่งออกและเกษตรกรของประเทศไทย มักมีเรื่องการซื้อเครื่องบินเป็นหนึ่งในข้อต่อรอง (ไว้วันหน้ามีโอกาสจะเล่าให้ฟัง) ดังนั้นการบินไทยจึงมีเครื่องบินหลายแบบ(ทั้งๆที่ไม่ต้องการ)
4.เงินเดือนพนักงานเยอะจริงไหม?
ตอบได้เลยว่าปานกลาง ถ้าเทียบกับเอกชนยิ่งห่างไกลกันมาก (เพื่อนรุ่นเดียวกับผมเงินเดือนมากกว่าผมเกือบเท่าตัวทั้งนั้น) ขณะที่งานการบินไทยเป็นงานที่ต้องใช้ฝีมือและประสบการณ์ที่ไม่สามารถหาทดแทนจากตลาดแรงงานในไทยแต่ต้องเรียนรู้จากการบินไทยเอง ดังนั้นเมื่อเทียบกับเงินเดือนพนักงานสายการบินอื่นๆในอุตสาหกรรมการบิน(พรีเมี่ยม)ด้วยกันถือว่า การบินไทยจ่ายค่าแรงถูกมาก
5.สวัสดิการเยอะจริงไหม?
สวัสดิการการบินไทยไม่ได้มีอะไรมากมายกว่ารัฐวิสาหกิจอื่น(แถมน้อยกว่าในหลายๆเรื่อง) ประกันสังคมยังดีกว่าในหลายๆหัวข้อ มีเพียงเรื่อง”ตั๋วเครื่องบิน” ที่ดูเหมือนเป็น”พิเศษ”ในสายตาคนอื่นๆ ทั้งๆที่เป็นปรกติของสายการบินทั่วโลก (แม้แต่สายการบิน low cost ก็มีให้กับพนักงาน) แต่ก็มีเงื่อนไขคือ ที่นั่งบนเครื่องต้อง ”ว่าง” พนักงานถึงจะได้ขึ้น ดังนั้นการ”ตกเครื่อง”จึงเป็นเรื่องปรกติของพวกเราเช่นกัน และที่สำคัญพวกเราต้องจ่ายเงินค่าตั๋วเหมือนกัน อาจจะถูกกว่าคนทั่วไป แต่ไม่ใช่ “บินฟรี” ครับ
สรุปสุดท้าย
ณ วันนี้ปัญหาการบินไทยประกอบด้วยหลายปัจจัย ทั้งที่เกิดจากภายในองค์กร (ยอมรับเรื่องการปรับตัวไม่ทัน และนโยบายที่ผิดพลาด ) และภายนอกองค์กร (การแทรกแซงจากการเมืองในทุกด้าน แม้กระทั่งการแต่งตั้งโยกย้ายคน) การลดค่าใช้จ่ายเป็นมาตราการนึงที่การบินไทยใช้มาร่วม 10 ปี พนักงานเองก็ได้รับผลกระทบมานาน การบอกว่าการบินไทยแบกค่าใช้จ่ายพนักงานจนหลังแอ่นจึงไม่ตรงความจริง พนักงานทำงานกันอย่างเต็มที่เพื่อกอบกู้การบินไทย อุปกรณ์บนเครื่องบางอย่างเราอาจด้อยกว่าสายการบินอื่น แต่เราสู้ด้วยบริการจนได้รางวัลมากมาย งานส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถใช้ AI ได้ ต้องใช้คนเท่านั้น
แม้วันนี้ผลตอบแทนที่บริษัทจ่ายให้กับเราจะ”น้อย” แต่พนักงานก็เต็มใจเพื่อให้เรากลับมายืนอย่างสง่างามอีกครั้งเพราะ
พวกเรา “ภูมิใจที่เป็นคนการบินไทย” ทำงานสายการบินแห่งชาติ
สำหรับข้อมูลที่”ท่าน” ได้ไป อาจไม่ครบ หรือมีการแต่งเติมจนเกินไป ผมก็ขอฝากประเด็นข้อมูลจากพนักงานถึง”ท่าน” เป็นข้อมูลอีกด้านแล้วกันนะครับ #SaveTG #OneTG
matemnews.com
3 พฤศจิกายน 2562