นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์นักข่าวที่กระทรวงสาธารณสุข 29 พ.ย.2562 ประเด็น “รศ.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์” นายกสภาเภสัชกรรม ลาออกจากการเป็นกรรมการวัตถุอันตราย เพราะรับไม่ได้ที่ตกสถานะจำยอมรับมติยืดการแบน พาราควอต และคลอร์ไพรีฟอส ออกไปอีก 6 เดือน และให้จำกัดการใช้ไกลโฟเซต ตามที่ นายสุรยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะกรรมการแถลงข่าว “เป็นมติเอกฉันท์”ว่า
“อย่าเพิ่งไปโทษใครเลยเพราะผมเพิ่งได้เจอ นายสุริยะ ที่สภาฯ เมื่อวันที่ 28 พ.ย.ท่านบอกว่าเข้าใจว่าที่ท่านพูดในที่ประชุมไปแล้วไม่มีใครโต้แย้ง น่าจะเป็นมติได้ แต่จริงๆ แล้ว ผมมองว่าในยุคสมัยนี้ทำแบบนี้ไม่ได้ สมัยก่อนอาจจะทำได้ ผมจึงเรียนท่านไปว่าขอให้เอาความชัวร์ คือขอให้เป็นการโหวต อย่าไปเกรงใจ บางครั้งคนก็เกรงใจว่านี่เป็นระดับรัฐมนตรีเลยไม่มีใครพูด ใครเถียง ต่างคนต่างเกรงใจเลยเข้าใจผิดกัน แต่ถึงเวลาก็ต้องมีการโหวตให้ชัดเจน การประชุมวันที่ 27 พ.ย.เป็นมติได้หรือไม่ เรื่องนี้ต้องไปตีความ ถ้ามีคน เช่น อ.จิราพร ลาออกแล้วบอกว่าไม่มีมติแบบนี้ หากผมเป็นเลขานุการคณะกรรมการฯ ก็ต้องทำบันทึกถึงท่านประธาน ว่าจะมีการตีความอย่างไร เป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงเหมือนกัน เพราะถ้าตีความว่าการประชุมวันที่ 27 พ.ย.ไม่มีมติ จะทำให้มติของวันที่ 22 ต.ค. จะยังคงอยู่ ก็ต้องว่าไปตามกฎหมาย ทุกฝ่ายมีที่ปรึกษากฎหมายอยู่แล้ว ส่วนกระทรวงสาธารณสุขจะทำหนังสือขอให้มีการตีความหรือไม่ คงต้องรอดูบันทึกรายงานการประชุมก่อน ทำอะไรอย่าไปหักหน้าเขา แต่ละคนสามารถมีความเข้าใจอะไรที่ต่างกัน แต่เป็นทีมเดียวกันทั้งนั้น กระทรวงสาธารณสุขบอกว่า ไม่ได้มีการลงมติ เราไม่ต้องตีความ การประกาศมติ เป็นเรื่องของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ส่งเรื่องไปให้ประธาน และส่งเรื่องไปตามขั้นตอนที่กำหนด ไม่ได้เกี่ยวกับกระทรวงสาธารณสุขแล้ว เราเป็นแค่ผู้ร่วมเป็นกรรมการเท่านั้น ส่วน รศ.ภญ.จิราพร จะยื่นให้มีการตีความหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของท่าน แต่อย่างที่บอกเราต้องเห็นใจนายสุริยะด้วยที่บอกว่าเมื่อพูดแล้วไม่มีใครเห็นแย้งเลยทำให้เข้าใจว่าเป็นมติด้วย ต้องดูว่าในการประชุมครั้งต่อไปกรรมการจะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหรือไม่ เพราะในรายงานการประชุมต้องเขียน สมมติว่า มีมติเป็นเอกฉันท์ แล้วมีใครโต้แย้งหรือไม่ ที่เจอนายสุริยะเมื่อวันที่ 28 พ.ย. ผมก็ไม่ได้ก้าวก่าย และไม่กล้าถามว่าจะมีการทบทวนเรื่องนี้หรือไม่ วันนี้เป็นประเด็นขึ้นมาท่านก็คงต้องไปหารือ เพราะอย่างที่บอกว่าวันที่ 1 ธ.ค.ตามมติเดิมคือให้ยกเลิกการใช้สารเคมีเหล่านี้นั้น หากไม่ประกาศขึ้นมา แล้วไปอ้างว่าไม่ประกาศเพราะเป็นมติ วันที่ 27 พ.ย. แล้วทำให้มีคนไปร้องเรียนเดี๋ยวก็จะยุ่งอีก จริงๆ คนเป็นกรรมการก็ต้องรักษาสิทธิของตัวเอง คนที่ลงคะแนนไปต้องรับผิดชอบ มีความรับผิดชอบทางกฎหมายอยู่ หากเขากลัวก็คงไม่ถาม แต่ถ้าเป็นผมก็จะถาม”
“กรณีที่น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ให้ข่าวว่าจะมีการคืนกรมวิชาการเกษตรให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ ปชป. เพราะไม่สามารถดูแลกรมนี้ได้แล้ว ก่อนจะคืนกรมก็ต้องมีการคุยกันก่อน จัดการปัญหาก่อน เพราะในการทำงานร่วมกันต้องมุ่งถึงความสัมฤทธิ์ผล เป้าหมายที่ร่วมกัน ไม่อย่างนั้นต่างคนต่างคิดได้ ก็ไม่ต้องมีอธิบดี ไม่ต้องมีรัฐมนตรี แต่นี่มีสายงานบังคับบัญชากันอยู่ ส่วนถามว่าจะต้องเด้งอธิบดีก่อนหรือไม่ ผมไม่มีสิทธิตรงนี้ แต่ถ้าผมเป็นรัฐมนตรีเกษตรฯ สิ น่าดู ส่วนเรื่องที่จะไปกินข้าวกับรมต.เกษตรฯ ก็เป็นเรื่องปกติที่กินข้าวกันอยู่แล้ว นี่ไม่ได้เป็นปัญหาระหว่างรัฐมนตรี แต่เป็นปัญหาของรมช.มนัญญา กับกรมวิชาการเกษตรมากกว่า เพราะ น.ส.มนัญญา บอกว่ามอบนโยบายอะไรไปก็ไม่ทำ ก็ต้องฟังเหตุผลว่าทำไมไม่ทำ ถ้าเหตุผลของการไม่ทำเพราะแค่จะไม่ทำก็ไม่ได้”
matemnews.com
29 พฤศจิกายน 2562