https://www.redcross.or.th/news/information/9641/
เสวนาวิชาการ DISEASE X : ปฐมบทไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019
วันที่ 20 มกราคม 2563 เวลา 10.30 น. ศาสตราจารย์นายแพทย์รื่นเริง ลีลานุกรม รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นประธานเปิดงานเสวนาวิชาการ “Disease X : ปฐมบทไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019” ซึ่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันจัดขึ้น ณ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวถึงปฐมบทไวรัสจากสัตว์สู่คนว่า “ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับแล้วว่าหายนะที่เกิดขึ้นกับมนุษย์มีส่วนหรือมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดจากเชื้อโรค โดยเฉพาะไวรัสที่ผ่านมาจากสัตว์โดยตรงสู่คนหรือผ่านตัวกลาง คือ เห็บ ยุง ไร ริ้น แมลง เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว เริ่มเป็นที่ทราบว่า 60-70% ของเชื้อก่อโรคในคนมีต้นตอมาจากสัตว์ทั้งสิ้น และมีศักยภาพในการทำให้เกิดโรคอุบัติใหม่ที่จะสร้างผลกระทบในวงกว้าง ทั้งนี้ การที่เชื้อจะเข้าคนสู่คนได้นั้นจะต้องมีการสมยอมให้เชื้อผ่านเข้าเซลล์และเนื้อเยื่อได้ เมื่อติดเชื้อแล้วอาจไม่มีอาการหรือมีอาการก็ได้ นอกจากนั้นเมื่อการสมยอมเกิดมีอาการแล้วอาจจะยังตัดกันไม่ขาด ยังคงหลบอยู่ในร่างกายตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งและเกิดโรคซ้ำซ้อนขึ้นมาแม้ว่าจะผ่านไปหลายเดือนหรือเป็นปีก็ตาม เช่น โรคไข้เลือดออกอีโบลา สมองอักเสบนิปาห์ และโรคซิการ์ โดยระหว่างที่มีการสมยอมนั้นยังสามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ กระบวนการสำคัญอีกอย่างในการพัฒนาการแพร่กระจายของเชื้อโดยการติดต่อทางการหายใจ (Airborne) ถือเป็นขั้นตอนที่มีประสิทธิภาพที่สุดของเชื้อโรคและเชื้ออุบัติใหม่ เนื่องจากคนไม่เคยสัมผัสมาก่อนจึงไม่มีภูมิคุ้มกันทำให้โรคอาจจะมีความรุนแรงมาก”
นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “ปัจจุบันคนจีนเดินทางเข้ามายังประเทศไทยประมาณ 3 ล้านคน โดยร้อยละ 10 มาจากเมืองอู่ฮั่น ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคมีมาตรการการเฝ้าระวังและป้องกันควบคุมโรคติดต่ออันตรายอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่มาตรการที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศเพื่อคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงภายในท่าอากาศยาน คำแนะนำสำหรับประชาชนที่ต้องการเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง ถ้าสามารถเลื่อนการเดินทางได้ควรเลื่อน และหากมีความจำเป็นต้องเดินทาง ควรหลีกเลี่ยงการไปตลาด โรงพยาบาล และบริเวณที่ขายซากสัตว์ ล้างมือบ่อย ๆ และฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ก่อนเดินทาง สำหรับคนไทยยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ยกเว้นเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลที่ต้องระมัดระวังเนื่องจากเป็นพื้นที่เสี่ยงในการระบาดของโรค”
ด้าน ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวถึงการถอดรหัสไวรัสสายพันธุ์ใหม่ว่า “10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยตรวจพบไวรัสใหม่ 458 ตัว ส่วนใหญ่เป็นโคโรนาไวรัส ความหลากหลายของโคโรนาไวรัสมีความซับซ้อนสูงทำให้เกิดโรคอุบัติใหม่ได้ง่าย การตรวจหาโคโรนาตัวใหม่ใช้หลักการเดียวกับการตรวจหาโรคเมอร์ส โดยการตรวจไวรัสที่รู้จักมาก่อน (Known Virus) 33 ชนิด ที่ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และตรวจเชื้อไวรัส 2 ตระกูล คือ โคโรนาไวรัสและอินฟลูเอ็นซา เมื่อถอดรหัสพันธุกรรมสำเร็จพบว่าเหมือนกับ “Bat SARS-like Coronavirus” ประมาณ 82-90% หลังจากนั้นจึงนำไปเปรียบเทียบกับเชื้อที่ตรวจพบที่อู่ฮั่นซึ่งพบว่าตรงกัน 100 %”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า “จากข้อมูลทั้งหมดที่มีในขณะนี้ ผู้ที่มีอาการรุนแรงที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 มักเป็นผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว ส่วนการติดต่อนั้นเกิดขึ้นในวงจำกัด ยังไม่มีการระบาดรุนแรงเหมือนโรคซาร์ส การป้องกันการติดเชื้อทำได้โดยหลีกเสี่ยงการสัมผัสบุคคลที่มีความเสี่ยง ล้างมือให้สะอาดและสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกัน อย่างไรก็ตามควรติดตามข้อมูลทางระบาดวิทยาและข้อมูลทางคลินิกของโรคนี้จากประเทศจีนหรือประเทศที่มีการรายงานต่อไป”
นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้เชื้อโรคจากสัตว์ป่าติดต่อสู่คน ได้แก่ 1. ถิ่นอาศัยถูกบุกรุก ทำลาย หรือถูกรบกวน ทำให้สัตว์ป่าออกมาอยู่พื้นที่เดียวกับมนุษย์ 2. ภัยธรรมชาติที่ทำลายสมดุลของสภาพแวดล้อม 3. อาชญากรรมสัตว์ป่า สัตว์ป่ามักถูกจับจากธรรมชาติทำให้เกิดความเครียด ภูมิคุ้มกันลดลง โอกาสที่เชื้อโรคในร่างกายจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นและแพร่กระจายเชื้อมากขึ้น และ 4. การบริโภคสัตว์ป่า โดยเฉพาะขั้นตอนการประกอบอาหารที่มีโอกาสสัมผัสกับสารคัดหลั่งต่าง ๆ ของสัตว์ป่า โดยในสารคัดหลั่งเหล่านี้สามารถตรวจพบเชื้อไวรัสได้ อย่างไรก็ตามการดำเนินการเชิงรุกในการศึกษาวิจัย สำรวจ และเฝ้าระวังเชื้อโรคอุบัติใหม่โดยใช้วิธีการที่เหมาะสมยังเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นแนวทางในการออกกฎหมายหรือนโยบายในการจัดการด้านสุขภาพของประเทศไทยต่อไป
matemnews.com
27 มกราคม 2563