Home ข่าวทั่วไปรอบวัน วาเลนไทน์ 2563  จะหงอยมาก  เพราะอะไร  ?

วาเลนไทน์ 2563  จะหงอยมาก  เพราะอะไร  ?

513
0
SHARE
OLYMPUS DIGITAL CAMERA

 

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงข่าว 6 ก.พ.2563  ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนม.ค. 2563 จากกลุ่มตัวอย่าง 2,247 คนทั่วประเทศ

 

นายปรีดา โพธิ์ทอง ผู้อำนวยการศูนย์ แถลงว่า  ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ม.ค. เท่ากับ54.9 ลดลงจาก ธ.ค. 2562 ซึ่งอยู่ที่ 56  ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม เท่ากับ 63.8 ลดลงจาก 64.8  ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต เท่ากับ 83 ลดลงจาก 84.1 ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค(Consumer Confidence Index: CCI) เท่ากับ 67.3 ลดลงจาก 68.3 ซึ่งเป็นค่าดัชนีที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 69 เดือนนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2557

 

สาเหตุที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการ เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับโรคระบาดไวรัสโคโรนา งบประมาณที่ล่าช้า ภัยแล้ง ตลอดจนเสถียรภาพทางการเมืองทั้งในปัจจุบันและในอนาคตที่อาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงได้มากขึ้นในอนาคต  จากความกังวลต่างๆทำให้คาดการณ์ว่าผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการจับจ่ายไปจนถึงกลางไตรมาสที่ 2 ของปีนี้เป็นอย่างน้อย

 

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงว่า ผู้บริโภคมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและยังกระจุกตัว และผู้บริโภคยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าทรงตัวอยู่ในระดับสูง รวมถึงยังรู้สึกว่ารายได้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น จึงมีแนวโน้มที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะลดลงอีกในเดือนก.พ.นี้  โดยทางศูนย์พยากรณ์ฯกำลังติดตามสถานการณ์ว่าปัจจัยลบจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นแค่ไหน โดยเฉพาะการระบาดไวรัสโคโรนาจนกระทบต่อการท่องเที่ยว หายไป 2.2 แสนล้านบาทและการบริโภคในประเทศต้องระมัดระวังมากขึ้น รวมถึงการส่งออกซึ่งยังประเมินว่ายังขยายตัวได้ 0.8% ในปีนี้จากโอกาสส่งออกกลุ่มอาหารและของใช้เพื่อสุขอนามัย อีกทั้งปัจจัยเรื่องภัยแล้ง เบิกจ่ายงบล่าช้า ปัญหาการเมืองในประเทศ ก่อนนำปัจจัยทั้งหมดมาทบทวนการคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจปี 2563 ที่จะมีขึ้นมี.ค.นี้ แต่เบื้องต้นยังประเมินตามคาดการณ์เดิมว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 2.8%  สำหรับนโยบายดอกเบี้ยนั้น ส่วนตัวอยากให้คงอัตราดอกเบี้ย เพราะการลดดอกเบี้ยและไม่ได้ใช้ประโยชน์จากส่วนนี้ได้เต็มที่ จะกลายเป็นกับดักก่อปัญหาสภาพคล่องในอนาคตได้ และสะท้อนถึงความวิตกต่อเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวหนักขึ้นไปอีก

 

ดัชนีความเชื่อมั่นการใช้จ่ายต่างๆ ได้แก่ ดัชนีความเหมาะสมการซื้อรถยนต์คันใหม่ ม.ค. เท่ากับ 57 ลดลงจาก ธ.ค.ซึ่งอยู่ที่ 60.7 ดัชนีความเหมาะสมการซื้อบ้านหลังใหม่ เท่ากับ 33.5 ลดลงจาก 36.1 ดัชนีความเหมาะสมการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว เท่ากับ 49.7ลดลงจาก 52.8 ดัชนีความเหมาะสมการลงทุนทำธุรกิจ เท่ากับ 21.3 ลดลงจาก 22.9

 

ผลสำรวจการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงวันมาฆบูชา ซึ่งตรงกับวันที่ 8 ก.พ. และสำรวจการใช้จ่ายวันวาเลนไทน์ ตรงกับวันที่ 14 ก.พ. โดยสำรวจประชาชน 1,234 ราย ระหว่างวันที่ 27 ม.ค.-2 ก.พ. 2563  พบว่า ประชาชนเกือบ 70% ของการสำรวจระบุว่าวิตกต่อปัญหาการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนาและฝุ่นละออง ทำให้ลดการออกจากบ้านเพื่อไปทำกิจกรรมหรือทำบุญลดลง

 

ประกอบกับวิตกเรื่องราคาสินค้าและค่าครองชีพ มองว่าเศรษฐกิจแย่ลง ทำให้เงินสะพัดใช้จ่ายช่วงมาฆบูชาปีนี้ติดลบ 2.50% หรือมูลค่า 2,601 ล้านบาท สำหรับเงินสะพัดช่วงวันวาเลนไทน์มีมูลค่า 3,246 ล้านบาท หรือติดลบ 1.23% ซึ่งเป็นการสำรวจครั้งแรกที่มีการติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่2

 

ผลสำรวจสะท้อนว่าประชาชนวิตกต่อปัญหาต่างๆมากขึ้น จึงเห็นด้วยที่รัฐบาลต้องเร่งออกมาตรการการคลังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และกระตุ้นการท่องเที่ยวผ่านมาตรการต่างๆ เช่น เพิ่มฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวในแต่ละประเทศ ทดแทนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเที่ยวไทยลดลง

 

matemnews.com

6 กุมภาพันธ์ 2563