Home ข่าวทั่วไปรอบวัน ศาลรัฐธรรมนูญให้โหวตใหม่ วาระ 2 กับ 3 พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 – ชวนนัด 13 กุมภาฯ

ศาลรัฐธรรมนูญให้โหวตใหม่ วาระ 2 กับ 3 พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 – ชวนนัด 13 กุมภาฯ

380
0
SHARE

 

 

องค์คณะตุลาการรัฐธรรม  ประชุมเมื่อบ่าย 7 ก.พ.2563 ปรึกษาพิจารณาคดีที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งความเห็นของส.ส. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ว่าร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ กรณีนายฉลอง เทิดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย น.ส.ภริม พูลเจริญ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ และ นายสมบูรณ์ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย เสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน

 

ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าคดีนี้ไม่มีประเด็นให้วินิจฉัยเกี่ยวกับเนื้อหาสาระของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ และไม่มีประเด็นเกี่ยวกับความผิดทางอาญาหรือทางจริยธรรมของส.ส.คนใด คงมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาวินิจฉัยเฉพาะเรื่องกระบวนการตราร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เท่านั้น ส่วนบุคคลใดจะต้องรับโทษอย่างไรหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องไปดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า การกระทำโดยไม่สุจริตใช้สิทธิออกเสียงลงมติ แทนผู้ที่ไม่ได้อยู่ร่วมประชุมด้วยนั้นเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็นส.ส. ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ในอาณัติมอบหมายของผู้ใด แลละต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 114 ทั้งสมาชิกคนหนึ่งย่อมมีหนึ่งเสียงในการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 120 วรรคสาม และการออกเสียงลงคะแนนจะกระทำแทนกันมิได้ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ข้อ 80 วรรคสาม

 

ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า ในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 เมื่อวันที่ 10 ม.ค.63 เวลา 19.30 น. ถึงวันที่ 11 ม.ค.63 ซึ่งเป็นการพิจารณาวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ปรากฏการแสดงตนและลงมติของนายฉลอง ทั้งที่นายฉลองรับเองว่า  ตนไม่อยู่ในที่ประชุมตามวันและเวลาดังกล่าว การที่ส.ส.มิได้อยู่ในห้องประชุมแต่ปรากฏว่ามีการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติแทนย่อมีผลเป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ไม่สุจริต ทำให้ผลการลงมติร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ 63 ในวันและเวลาดังกล่าวไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม และไม่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ

 

ส่วนปัญหาว่า ร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ 63 ตกไปทั้งฉบับตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 15-18 /2556 (กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาส.ว.)และคำวินิจฉัยที่ 3-4/2557(กรณีร่างพ.ร.บ.กู้เงิน2.2 ล้านล้านบาท) หรือไม่ เห็นว่าประเด็นข้อวินิจฉัยพฤติการณ์แห่งคดีและบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวแตกต่างจากประเด็นข้อวินิจฉัยพฤติการณ์แห่งคดี และบทกฎหมายในคดีนี้อย่างมีนัยสำคัญ

 

กล่าวคือคดีนี้ไม่มีประเด็นเกี่ยวกับข้อความอันเป็นสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด แต่มีปัญหาที่กระบวนการตราร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เท่านั้น ทั้งข้อเท็จจริงในคดีนี้ก็ปรากฏชัดว่า การพิจารณาออกเสียงลงมติของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 1 ชั้นรับหลักการและการพิจารณาของกรรมาธิการก่อนเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเรียงตามลำดับมาตราในวาระที่ 2 ได้ดำเนินการไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญทุกประการ ถือว่าได้เป็นขั้นตอนที่เสร็จสิ้นไปโดยสมบูรณ์ก่อนแล้ว

 

 

นอกจากนี้ ยังมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่ประเทศชาติจะต้องได้กฎหมายฉบับนี้ไปช่วยแก้ปัญหาความล่าช้าและอุปสรรคในการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดินอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันมีพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 74 บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจกำหนดคำบังคับไว้ในคำวินิจฉัยได้ด้วย ซึ่งบทกฎหมายดังกล่าวนี้มิได้มีอยู่ในอดีต จึงอาศัยอำนาจตามพ.ร.ป.ดังกล่าว ให้สภาผู้แทนราษฎร ดำเนินการให้ถูกต้องเฉพาะในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 และข้อสังเกตของกรรมาธิการแต่การพิจารณาลงมติในวาระที่ 1 และขั้นตอนการพิจารณาของกรรมาธิการก่อนนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาออกเสียงลงมติเรียงตามลำดับมาตราในวาระที่ 2 ซึ่งได้เสร็จสิ้นไปก่อนที่จะมีการกระทำอันไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงเป็นขั้นตอนที่ชอบและมีผลสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญแล้ว จากนั้นให้เสนอร่างพ.ร.บ.ที่แก้ไขให้ถูกต้องดังกล่าวให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบเพื่อดำเนินการตามรัฐธรรมนูญต่อไป พร้อมทั้งให้สภาผู้แทนราษฎรรายงานผลการปฏิบัติตามคำบังคับต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีคำวินิจฉัย

 

ส่วนคำร้องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของส.ส.จำนวน 78 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อวันที่ 6 ก.พ.นั้น เห็นว่า เหตุแห่งคำร้องดังกล่าวเป็นเหตุเดียวกันกับที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยในคดีนี้แล้วกรณีจึงไม่มีเหตุต้องรับไว้พิจารณาวินิจฉัยให้อีกจึงสั่งไม่รับคำร้อง

 

กรณีหลัง  เป็นคำร้องของประธานสภาผู้แทนราษฎรที่ส่งความเห็นส.ส.78 คน เป็นกรณีพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเสรีรวมไทย ยื่นขอให้ศาลวินิจฉัยประเด็นเดียวกัน โดยอ้างพฤติการณ์ของนางนาที รัชกิจประการ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย และส.ส.พรรคพลังท้องถิ่นไท

 

นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าว ว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ นัดประชุมสภาฯ เป็นนัดพิเศษ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ในวาระสองและวาระสามอีกครั้ง ตามที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญระบุไว้  ตนได้หารือกับนายชวน พร้อมกับนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อกำหนดวันพิจารณาโดยเร็วที่สุด ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ แต่นายสมพงษ์ ระบุว่าในวันดังกล่าวต้องพิจารณาญัตติด่วน ซึ่งนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และคณะเสนอให้ สภาฯ ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหารขึ้นอีกในอนาคต ที่ค้างอยู่ ดังนั้นนายชวน จึงขอนัดวันที่ 13 กุมภาพันธ์ เวลา 09.30 น.  โดยต้องพิจารณาวาระสองใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่ชื่อร่าง ไปจนถึงมาตราสุดท้าย โดยส.ส.ที่เสนอคำแปรญัตติ และกรรมาธิการที่ขอสงวนความเห็นสามารถอภิปรายได้ตามกรอบเดิม และลงมติเป็นรายมาตรา ก่อนจะลงมติวาระสามต่อไป หากการประชุมนัดพิเศษไม่แล้วเสร็จภายในวันเดียว สามารถขยายไปจนกว่าการพิจารณาจะแล้วเสร็จวาระให้ความเห็นชอบทั้งฉบับ และเมื่อสภาฯ ลงมติวาระสามแล้วเสร็จ ต้องส่งเรื่องให้วุฒิสภา พิจารณาต่อทันที

 

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้เปิดโปงแถลงแก่คระนักข่าวว่า

 

“ส่วนตัวเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาล เพราะไม่ต้องการให้ พ.ร.บ.งบฯปี63 ต้องตกไปและส่งผลกระทบต่อส่วนรวม ศาลสามารถกำหนดคำบังคับให้ปฏิบัติให้ถูกต้องได้ เพราะปรากฎข้อเท็จจริงว่า มีความไม่สมบูรณ์ของพ.ร.บ.งบฯเกิดขึ้นจริงในวาระที่ 2 และ3 จึงต้องไปทำให้สมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญ ส่วนจะใช้ระยะเวลาเท่าใดนั้น อยู่ที่กระบวนการทางสภาฯ ผมคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน ซึ่งศาลก็ระบุว่า ต้องรายงานให้ศาลทราบภายใน 30 วัน ส่วนคนที่เสียบบัตรแทนกัน และเจ้าของบัตรที่ไม่ได้อยู่ในที่ประชุมในวันโหวตนั้น ทราบว่าทางสภาฯได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงว่ามีความผิดจริยธรรมของนักการเมืองหรือไม่ ถ้าหากผิดจริงก็ถือว่าผิดจริยธรรมร้ายแรง คณะกรรมการฯก็ต้องทำความเห็นเพื่อส่งเรื่องให้สภาฯพิจารณาและส่งเรื่องปปช. ดำเนินคดีอาญาเพราะถือว่า ส.ส.ก็ถือเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษจำคุก1-10 ปีการกระทำของนายฉลอง เทอดวีระพงษ์ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย และนางนาที รัชกิจประการ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย จะมีความผิดทางอาญาหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ ปปช.จะดำเนินการต่อไป เพราะทราบว่าได้มีผู้ไปยื่นเรื่องต่อ ปปช.ไว้แล้ว ถือเป็นหน้าที่ของ ปปช.ต้องดำเนินการตามกฎหมาย และทราบว่าเรื่องนี้ทางสภาฯเองก็กำลังดำเนินการสอบสวนอยู่เช่นกัน ทั้งหมดเพียงแต่อยากให้ส.ส.มีความระมัดระวังในการทำหน้าที่ให้สมกับที่พี่น้องประชาชนไว้วางใจเลือกเป็นตัวแทนมาทำหน้าที่”

 

matemnews.com

7 กุมภาพันธ์ 2563