Home ข่าวทั่วไปรอบวัน ธุรกิจนายหน้า “ผู้บังคับบัญชา” ในค่ายทหาร ปมสะเทือนขวัญเมืองย่าโม

ธุรกิจนายหน้า “ผู้บังคับบัญชา” ในค่ายทหาร ปมสะเทือนขวัญเมืองย่าโม

720
0
SHARE

“โครงการจัดสรรที่ดินสร้างบ้านพักเพื่อขายให้บรรดาทหาร” เป็นหัวข้อที่ถูกระบุว่าเป็นชนวนเหตุของการก่อเรื่องสะเทือนขวัญใน จ.นครราชสีมา เมื่อไม่นานที่ผ่านมา

โครงการนี้มีนายหน้าเป็นตัวกลางทำหน้าที่ขายและจดจำนองให้ลูกค้า อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ได้ซื้อขายกันเสร็จสิ้นแล้ว โดยหลังจากจดจำนองแล้วพบว่า “มีเงินส่วนเกิน” ที่ต้องคืนให้ลูกค้าจำนวนหนึ่ง “นางอนงค์ มิตรจันทร์” เจ้าของบ้าน ผู้เสียชีวิตรายแรก แม่ยายของ “พ.อ.อนันต์ฐโรจน์ กระแส” ผู้พันสรรพาวุธ ค่ายสุรธรรมพิทักษ์ ในฐานะเจ้านาย และสักขีพยานของ จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา หรือจ่าโจ๊ก ผู้ก่อเหตุ อ้างว่าได้ส่งมอบเงินให้ “นายหน้า” ซึ่งเป็นตัวแทนนำเงินไปส่งคืนแล้ว จำนวน 50,000 บาท

แต่คาดว่านายหน้าคืนเงินให้ไม่หมด ทำให้ “จ่าโจ๊ก” ทวงถามบ่อยครั้ง และก่อเหตุจากคำพูดเพียงคำเดียวว่า “อยากได้ให้ไปฟ้องเอาเอง”

จากไทม์ไลน์บทสัมภาษณ์สามี “นางอนงค์” ผู้เสียชีวิต อ้างถึงปมความขัดแย้ง

“นางอนงค์” ซึ่งเป็นคนจัดสรรที่ดินสร้างบ้านให้แก่ลูกค้าที่เป็นทหาร ได้ให้นายหน้าไปดำเนินการขาย เมื่อขายได้แล้วก็ดำเนินการจดจำนอง ต่อมาเมื่อมีเงินค่านายหน้าเหลือคืนให้แก่ลูกค้า นางอนงค์ให้นายหน้าเอาไปให้ลูกค้า คือ จ.ส.อ.จักรพันธ์ แต่นายหน้าอาจจะไม่ได้เอาไปให้ทั้งหมด

อ้างว่า “นายหน้า” กับ “จ่าโจ๊ก” เป็นเพื่อนกัน ได้พาไปดื่มกินกัน ปัญหานี้พูดกันมา 2-3 เดือนแล้ว จ่าโจ๊กที่เป็นลูกค้าก็ทวงเงิน 5 หมื่นมาหลายครั้งใน 2-3 เดือนนี้ ซึ่งยังค้างอยู่กับทางนายหน้า และคาดว่านายหน้ายังไม่ได้ให้เขาทั้งหมด

แม้ราคาที่ดินที่จัดสรรจะไม่ได้เปิดเผย แต่จากราคาที่ดินบ้านจัดสรรในโครงการทหารทั่วไปนั้น คาดว่าราคาน่าจะอยู่ประมาณ 350,000 บาท

วันเกิดเหตุ “นางอนงค์” ได้ให้นายหน้าเรียก “จ่าโจ๊ก” มาตกลงที่หน่วยสรรพาวุธ ค่ายสุรธรรมพิทักษ์ จนถูกมองว่าเป็นธุรกิจในกรมในค่ายทหาร

หลังจากคุยกัน โดยอ้างว่ามีการจ่ายเงินไปแล้ว และในเรื่องจ่ายเงินว่าเป็นยังไง พบว่ามีการนำรถของนายหน้ามาจำนองไว้ และนายหน้าอ้างว่าจะเอาเงินไปไถ่คืนให้ แต่ให้เอารถมาจอดไว้ที่บ้านนายอนงค์แล้วค่อยให้นายหน้าเป็นคนผ่อนคืน จนครบ 50,000 บาท

แต่ปัญหาคือ “จ่าโจ๊ก” อาจจะต้องการเงิน 50,000 บาทคืน เพราะเป็นเงินกู้ที่จ่าโจ๊กอาจจะเห็นว่าน่าจะได้คืนโดยเร็ว แต่นายหน้าเอาเงินก้อนนั้นไปแล้ว

สามีนางอนงค์อ้างว่า แต่ “จ่าโจ๊ก” ไปเข้าใจผิดว่าเงินยังอยู่กับนางอนงค์ เลยมายิงนางอนงค์ นายหน้า และ พ.อ.อนันตโรจน์ จนเสียชีวิต 3 ศพ ที่บ้านถนนหัก ต.ไชยมงคล อ.เมืองฯ จ.นครราชสีมา

ข้างต้นมาจากคำพูดผ่านสื่อจากปากสามีผู้ตายล้วนๆ

อีกฝั่งหนึ่ง มีไลน์ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม ระบุว่า

“4 แสนค่ะ ไม่ใช่ 5 หมื่น เขาซื้อบ้านจากแม่ยายผู้พัน แต่เขาไม่ได้บ้าน แถมผู้พันกับแม่ยายยังไม่ยอมคืนเงินให้เขาอีก และก่อนเกิดเหตุเขาไปขอความช่วยเหลือจากใครก็ไม่มีคนช่วย เพราะกลัวบารมีของผู้พัน นี่คือคำว่าหมาจนตรอก มันก็สู้จนตัวตายนั่นแหละ น่าสงสารสิบเอกคนนี้นะ และเสียดายความสามารถของเขาด้วยที่เอามาใช้ผิดที่ผิดทาง”

นักอสังหาริมทรัพย์คนหนึ่งในพื้นที่ให้ข้อมูลว่า กรณีนี้มองว่า “นายหน้า” ในฐานะเพื่อนทหารผู้นี้ อาจจะ “ทำสัญญาใจ” กันไว้เท่านั้น

สัญญานายหน้าไม่มีการทำเป็น “ลายลักษณ์อักษร” ไม่มีการระบุรายละเอียดที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน เช่น รายละเอียดค่าตอบแทนหรือค่านายหน้า เมื่อสามารถขายได้สำเร็จ แต่เมื่อนายหน้าเป็นเพื่อนสนิทหรือคนรู้จักที่ไว้ใจ ซึ่งยืนกรานที่จะทำสัญญาปากเปล่า จนโดนโกง ซึ่งไม่มีหลักฐานที่แน่นหนาในการฟ้องร้อง จากพยานอ้างว่า ผู้ตาย (นายหน้า) ให้ทหารผู้นี้ไปฟ้องร้องเอาเอง

สำหรับข้อมูล “โครงการจัดสรรที่ดินสร้างบ้านพักเพื่อขายให้ทหาร” นั้น คาดว่าเป็นโครงการที่กลุ่มนายหน้าจัดหาโครงการมาขายให้ทหารในสังกัด ดูได้จากตามเว็บไซต์อสังหาริมทรัพย์ มีการโพสต์ขายจำนวนมาก เช่น ขายที่ดินเปล่าโครงการจัดสรรกองทัพบก, ขายที่ดินจัดสรรข้าราชการทหาร ทำเลสวย 50,000 บาท, ที่ดินโครงการกองทัพภาคที่ 3 ราคา 350,000 บาท, ที่ดินเปล่าโครงการจัดสรรทหารบก, ขายที่ดิน ที่ดินจัดสรร โครงการสวัสดิการกองทัพบก, ขายด่วน!!!! ที่ดินจัดสรรทหาร เป็นต้น

ไม่ได้มีแค่ใน จ.นครราชสีมา แต่มีโครงการประเภทขายโดยระบุถึง “สวัสดิการทหาร” นี้ทั่วประเทศ!

แต่ “ทหาร” เจ้าของที่ดิน อาจจะขายเอง หรือจัดสรรขาย โดยมี “ผู้บังคับบัญชา” หรือเจ้านาย ใช้ความสนิทสนม เอาโครงการมาเสนอขายผู้ใต้บังคับบัญชา หรือลูกน้อง แต่มี “นายหน้า” เป็นคนใกล้ชิดในบ้าน หรือเพื่อนสนิท มาเป็นนายหน้าแบบเคสนี้

ขณะที่ทหารที่จะซื้อที่ดินจัดสรรส่วนใหญ่จะกู้เงิน “ออมทรัพย์พิเศษ” หรือ อทบ.ประเภทพิเศษ กรณี จ.ส.ต.-จ.ส.อ. ประเภทที่ 1 วงเงินกู้ 250,000 บาท ผ่อน 10 ปี วงเงิน 2,714 บาท หรือประเภทที่ 2 วงเงินกู้ 700,000 บาท ผ่อน 10 ปี วงเงิน 7,797 บาท หรือ ผ่อน 20 ปี วงเงิน 4,816 บาท

นำเงินกู้ อทบ.พิเศษ มาซื้อโครงการจนสำเร็จ แต่ยังติดเงินค่าส่วนเกิน ไม่คืน “ลูกค้า”

จะเห็นได้ว่า มีการเรียกทหารที่ซื้อว่า “ลูกค้า”

กรณีนี้จากความสนิทสนม “ทำสัญญาปากเปล่า” จนโดนโกง และไม่มีหลักฐานที่แน่นหนาในการฟ้องร้อง

แต่หลายรายน่าจะขายได้ และ “นายหน้า” คืนเงิน หรือไม่ได้เงินคืน แต่ไม่มีความแค้นอะไรกันก็ได้

นายทหารเก่าที่เคยซื้อที่ดินอสังหาริมทรัพย์ประเภทนี้คนหนึ่งให้ข้อมูลว่า

“โครงการจัดสรรที่ดินสร้างบ้านพักเพื่อขายให้บรรดาทหาร มีมานานนับสิบปีแล้ว นายทหารระดับผู้บังคับบัญชาและบรรดาเมียๆ พวกนี้สบช่อง รู้ช่องทาง จะให้ลูกน้องไปติดต่อทหารที่อยากได้บ้านพัก “พี่จะเอาแปลงไหน ถ้าเอาตรงนี้ เดี๋ยวมีของแถม” ประเภทว่าแลกเปลี่ยนกันทางผลประโยชน์ ตอนซื้อขายจริงต้องมีเงินทอนให้คนซื้อ 5-7 หมื่นบาท ทหารชั้นประทวนที่ต้องการเงินก้อนนี้ก็ต้องยอมซื้อที่ดิน “โหลยโท่ย” พวกนี้ หรือที่ดินตาบอดก็ต้องยอม

“มีการไปกว้านซื้อที่ดินแบบถูกๆ มาแบ่งขายเป็นล็อตๆ ราคาที่ดินจริงๆ ขายกันไม่กี่แสน แต่เอาเข้าจริงมันเอาเต็มๆ พอลูกน้องไปซื้อผ่อนกับธนาคาร บางคนผ่อนจนลูกโตก็ยังไม่หมด พวกนี้ใช้ลูกน้องวิ่งหางาน ตัวเองนั่งจิบไวน์ กินหูฉลามอยู่ในกองพัน ทำกันเป็นทอดๆ หาผลประโยชน์ รวยกันเยอะแยะ เคสนี้เชื่อว่าสร้างบ้านจัดสรรขาย แล้วก็หาผลประโยชน์จากลูกน้อง หาส่วนต่างเงินที่กู้เกิน จากเงินออมทรัพย์พิเศษ ลูกน้องต้องได้เงินคืนจากนายหน้า หรือจากค่าตกแต่งบ้าน ค่าซื้อเฟอร์นิเจอร์ จากเงินกู้”

ทีนี้มาดูสวัสดิการจริงๆ ของทหาร กระทรวงกลาโหมมีโครงการ “จัดสรรที่ดินเพื่อสวัสดิการแก่ข้าราชการและลูกจ้างส่วนราชการ” กรณีนี้ส่วนราชการได้ดำเนินการจัดสรรที่ดินและอาคารสงเคราะห์ เพื่อเป็นสวัสดิการให้แก่ข้าราชการและลูกจ้าง ซึ่งเป็นการดำเนินตามแนวนโยบายแห่งรัฐที่จะให้ข้าราชการและลูกจ้างได้มีที่ดิน และอาคารเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง เป็นการประหยัดงบประมาณของทางราชการ โดยไม่ได้ดำเนินการเพื่อการค้าหรือแสวงหากำไรแต่อย่างใด

เช่นกรณีของ “กองทัพภาคที่ 2” ตั้งแต่ พ.ศ. 2545 มีการใช้ที่ดินในครอบครองในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา มาจัดทำหมู่บ้านจัดสรรให้แก่ทหารในสังกัด พร้อมแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือที่เรียกว่า ‘บ้านธนารักษ์ ทบ.’

ปัจจุบันโครงการที่ จ.นครราชสีมา มีการดำนินการไปแล้ว 3 เฟส

การจัดสรรที่ดินดังกล่าว ไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน แต่มีการโอนกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้าง โดย “เจ้าของบ้าน” หรือ “นายทหาร” จะทำสัญญาเช่ากับธนารักษ์พื้นที่นครราชสีมา

โครงการแรกสัญญาเช่าครั้งละ 3 ปี แต่โครงการหลังๆ ขยายระยะสัญญาเป็นไม่เกิน 30 ปี ให้เท่าระยะเวลาเงินกู้ หลังจากนั้นต่อสัญญาเช่าครั้งละ 3 ปี ไม่กำหนดครั้งในการต่อสัญญา และไม่ส่งพื้นที่คืนกรมธนารักษ์

ค่าเช่าที่ดินเพียง 300 บาท ในปีแรกๆ

โครงการนี้ให้โอนกรรมสิทธิ์ให้ทายาทได้โดยไม่มีเงื่อนไขว่าทายาทต้องเป็นทหารด้วย

อย่างไรก็ตาม ประเด็นโครงการจัดสรรที่ดินสร้างบ้านพักเพื่อขายให้บรรดาทหารนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม รับว่า จะให้มีการตรวจสอบ แม้เป็นเรื่องส่วนตัวก็ตาม

ที่มา ผู้จัดการออนไลน์