พิชัย นริพทะพันธุ์ ไล่รัฐบาล
พิชัย” หวั่น เศรษฐกิจไทยทรุดยาวฟื้นยาก แนะ รัฐบาล คิดให้เป็น เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส เสนอ 12 เรื่องรัฐบาลเร่งแก้ไข เช่น ตัดงบทหาร ลดช่องว่างดอกเบี้ย ปรับโครงสร้างภาษี รักษาบาทอ่อนและ ลดราคาพลังงาน ฯลฯ
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว. พลังงาน กล่าวในงานเสวนาเรื่อง
การอภิปรายไม่ไว้วางใจ
จัดโดยสภาที่ 3 และ คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ที่สมาคมนักข่าวฯ ว่า
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายปีที่แล้วขยายตัวได้เพียง 1.6% ซึ่งถือว่าต่ำมาก ต่ำที่สุดใน 21 ไตรมาส ทำให้ทั้งปี 2562 เศรษฐกิจไทยขยายได้เพียง 2.4% ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี ทั้งที่ต้นปีรัฐบาลบอกเองว่าจะโตได้ 4 % แต่กลับลดต่ำลงมาอย่างหนัก
เศรษฐกิจไทยที่ย่ำแย่ในปี 2562 โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้าย ไทยยังไม่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) เลย แสดงถึงความเสื่อมถอยของเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง และยังเป็นความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจ และปีนี้เศรษฐกิจไทยจะยิ่งทรุดจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 และจะขยายตัวต่ำลงจากปีที่แล้ว
คำถามที่คาใจประชาชนคือ หากหลังจาก วิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 ผ่านพ้นไปแล้ว เศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวได้อย่างไร ในเมื่อเสาหลักเศรษฐกิจได้เสื่อมถอยหมดแล้ว และที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่ได้แก้ไขปรับปรุงปัญหาต่างๆเลย ดังนั้นในภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่นี้ รัฐบาลควรคิดให้เป็นโดยพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงแก้ปัญหา 12 ข้อ ดังนี้
- ปรับลดส่วนต่างดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ ของระบบธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้เพราะธนาคารกำไรเกินควร ในขณะที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำเพียง 4% แต่ ธนาคารพาณิชย์กลับมีผลกำไรเพิ่มขึ้นถึง 30.8% เป็นเช่นนี้แล้วรัฐบาลจะไม่ถูกครหาว่าเอื้อประโยชน์แก่นายทุนได้อย่างไร
- ปรับลดราคาพลังงานโดยปรับทั้งโครงสร้าง ทั้งราคาหน้าโรงกลั่น ราคาเอทานอล รวมถึงราคาไฟฟ้า ทั้งนี้เพราะในภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ แต่บริษัทพลังงานยังมีกำไรที่สูงมาก และโครงสร้างราคาพลังงานยังมีการบิดเบือน
- ปรับปรุงโครงสร้างภาษีเพื่อให้เกิดความยุติธรรม และ ลดความเหลื่อมล้ำผู้มีรายได้สูง มีทรัพย์สินมาก นายทุนและเจ้าสัว ควรต้องจ่ายภาษีให้รัฐมากขึ้น เพื่อจะได้นำเงินมาช่วยพัฒนาประเทศและช่วยเหลือสนับสนุนประชาชนผู้ด้อยโอกาส อย่างเช่น การปรับปรุงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปัจจุบันยังมีโครงสร้างการเก็บภาษีที่บิดเบี้ยว
- ตัดงบทางการทหาร เพื่อมาช่วยประชาชนที่กำลังยามลำบาก งบทางการทหารเพิ่มขึ้นอย่างมากตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นในภาวะที่เศรษฐกิจย่ำแย่ และยังไม่มีภัยคุกคามเด่นชัด งบทางการทหารควรต้องปรับลดเพื่อนำมาใช้พัฒนาประเทศทางด้านเศรษฐกิจ
- ตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อรับมือกับการยิงกราด และ การฆ่าตัวตาย หรือ การฆ่าตัวตายพร้อมครอบครัว ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเกิดเพิ่มขึ้น จากภาวะความเครียดของประชาชน ทั้งนี้หลังจากโศกนาฏกรรมทหารกราดยิงที่โคราช ก็ปรากฏการลอกเลียนแบบแล้วอย่างน้อย 2 หน แต่โชคดีที่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต โดยส่วนใหญ่ความเครียดเกิดจากปัญหาทางเศรษฐกิจ
- ผู้นำประเทศจะต้องนำการเจรจาหาข้อเสนอไม่ให้โรงงานย้ายหนีออกจากไทย โดยล่าสุด จีเอ็มได้ขายโรงงานให้จีนและถอนตัวจากไทย ก่อนหน้านี้ มาสด้า โยกย้ายฐานการผลิตบางรุ่นกลับญี่ปุ่น เป็นต้น โดยอยากให้ดูตัวอย่าง ผู้นำสหรัฐที่เจรจาและมีข้อเสนอไม่ให้โรงงานย้ายออก
- ต้องเร่งแก้ไขเรื่องฝุ่นละออง PM 2.5 จากโรงงานอุตสาหกรรม ดังเห็นได้จากคลิปถ่ายหมอกควันดำจำนวนมากจากโรงงานอุตสาหกรรมในเขตอุตสาหกรรมฝั่งตะวันออก อีกทั้ง วางแผนการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าในอนาคตเพื่อลดปัญหาฝุ่น PM 2.5
- รักษาค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลง และ คงความอ่อนค่าไว้ ค่าเงินบาทได้อ่อนลงจากปัญหาเศรษฐกิจที่ไทยกำลังประสบ ดังนั้นรัฐบาลและแบงก์ชาติต้องถือโอกาสนี้คงความอ่อนค่าของบาทไว้อย่าปล่อยให้แข็งค่าอีก
- เร่งหารายได้ จากการเจรจาแหล่งพลังงานใน พื้นที่ทับซ้อน ไทย กัมพูชา โดยไม่ต้องพูดถึงการแบ่งเขตแดนที่ถกเถียงกันไม่จบ เพื่อขุดก๊าซธรรมชาติ สร้างรายได้ให้ประเทศ และ พัฒนาธุรกิจต่อเนื่อง อีกทั้งนำมาลดราคาค่าพลังงานให้กับประชาชน โดยจะทำให้ประเทศไทยได้รายได้เพิ่มขึ้นปีละหลายแสนล้านบาท ก่อนที่ในอนาคตโลกอาจจะไม่ใช้ก๊าซแล้วก็เป็นได้ ซึ่งถึงตอนนั้นอาจจะไม่มีค่าเลย อีกทั้ง รัฐบาลต้องคิดหาทางเพิ่มรายได้ให้ประเทศทางด้านอื่นๆ เช่น โครงการคลองไทย หรือ โครงการแลนด์บริดจ์ในพื้นที่ภาคใต้
- สนับสนุน และ ปรับปรุงสิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้บริษัทเทคโนโลยีสตาร์ทอัพของไทยแข่งกับบริษัทต่างชาติได้ โดยไม่ปล่อยให้บริษัทต่างประเทศครอบงำธุรกิจเทคโนโลยีของประเทศไทยทั้งหมด อีกทั้งเร่งส่งเสริมธุรกิจเทคโนโลยีไทยให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด เพื่อสร้างเอสเคิร์ฟอย่างแท้จริง
- แก้ไขปัญหาการใช้อำนาจรัฐ และ ที่ดินของรัฐโดยผิดกฎหมาย โดยยกตัวอย่างการคืนที่ดินให้กับกรมธนารักษ์ ของ กองทัพบก ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดี และ ให้รัฐเร่งพัฒนาพื้นที่เพื่อประโยชน์ของประเทศโดยรวม
- รัฐต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่แนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป จะต้องทำเพื่อให้เกิดการสร้างงาน ไม่ใช่แจกเงินสะเปะสะปะอย่างที่ผ่านมา
นี่เป็นเพียงบางตัวอย่างเท่านั้น ยังมีอีกหลายแนวทางที่รัฐบาลควรคิดได้เองและต้องเร่งทำ โดยอยากให้รัฐบาลนำไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขเพื่อพัฒนาประเทศ อีกทั้งต้องทำให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า หลังจากวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 ผ่านไปแล้ว เศรษฐกิจไทยจะฟื้นกลับมาได้ ไม่ใช่ทรุดแล้วทรุดเลยอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ และหากทำไม่ได้ หรือ ทำไม่เป็น ก็ควรจะต้องออกไป เพื่อให้คนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาบริหารประเทศแทน
matemnews.com
19 กุมภาพันธ์ 2563