Home ข่าวทั่วไปรอบวัน ให้ผู้ติด COVID-19 เป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน

ให้ผู้ติด COVID-19 เป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน

385
0
SHARE

ให้ผู้ติด COVID-19 เป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน

 

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา  ลงวันที่ 4 มีนาคม 2563  เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข

 

เรื่อง กำหนดผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19))

 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการสถานพยาบาล จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

 

ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19(Coronavirus Disease 2019(COVID-19))”

 

ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

ข้อ 3 ให้ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19(Coronavirus Disease 2019(COVID-19)) ซึ่งเป็นโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉินจากสถานพยาบาลาตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559

 

ประกาศ ณ วันที่ 3 มีนำคม พ.ศ. 2563

อนุทิน ชาญวีรกูล

รัฐมนตรีว่ากำรกระทรวงสาธารณสุข

 

………………………….

 

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา 4 มีนาคม 2563 เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข

 

เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) การระดมทรัพยากรและมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเยียวยาและการจัดให้มีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลอื่น

 

โดยที่มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2563 โดยกำหนดให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) เป็นโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ

 

ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ตามมาตรา 33/1และมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559

 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 และมาตรา 36 วรรคสามและวรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการสถานพยาบาล จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

 

ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) การระดมทรัพยากรและมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเยียวยาและการจัดให้มีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลอื่น”

 

ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

ข้อ 3 ในประกาศนี้ “ผู้ป่วย” หมายความว่า ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19(Coronavirus Disease 2019 (COVID-19))

 

หมวด 1 การช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วย

 

ข้อ 4 ภายใต้บังคับแห่งวรรคสอง ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการของสถานพยาบาลต้องจัดให้มีหน่วยคัดกรองผู้รับบริการที่เข้ามารับบริการในสถานพยาบาล ซึ่งหากคัดกรองแล้วพบอาการและอาการแสดงดังต่อไปนี้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ป่วยดังกล่าวเป็นผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19))

 

(1) ผู้ป่วยมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หอบเหนื่อย หรือมีอาการของโรคปอดอักเสบในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการระบบทางเดินหายใจล้มเหลว และอาจถึงขั้นเสียชีวิต

(2) ป่วยด้วยโรคปอดอักเสบที่หาสาเหตุไม่ได้และมีประวัติใกล้ชิดผู้ที่สงสัยติดเชื้อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019(COVID-19)) อาการและอาการแสดงผู้ป่วย ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข หรือแนวทางตามที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด

 

ข้อ 5 เมื่อคัดกรองผู้รับบริการและพบผู้รับบริการที่มีอาการและอาการแสดงตามข้อ 4 ให้ถือว่าเข้าเกณฑ์การเฝ้าระวังเป็นผู้ป่วย ให้ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการของสถานพยาบาล มีหน้าที่ดำเนินการ ดังต่อไปนี้

 

(1) สถานพยาบาลประเภทที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน

 

(ก) จัดให้ผู้ป่วยสวมหน้ากากอนามัย และดำเนินการใด ๆ อันจะมีผลเป็นการควบคุม ระงับ หรือบรรเทาอันตรายจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus

Disease 2019 (COVID-19)) อย่างทันท่วงทีตามสมควรแก่กรณี

 

(ข) จัดให้มีห้องตรวจโรคแยกกับผู้ป่วยทั่วไป

 

(ค) จัดให้มีห้องพักผู้ป่วย ห้องน้ำ เพื่อรองรับผู้ป่วยแยกกับผู้ป่วยทั่วไป

 

(ง) จัดให้มีการซักประวัติและปัจจัยเสี่ยงตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด

 

 

 

(จ) แจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ

 

(ฉ) จัดให้มีการเก็บตัวอย่างส่งตรวจจากผู้ป่วยและส่งตัวอย่างส่งตรวจดังกล่าวไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19(Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ทั้งนี้ ตามแนวทางและห้องปฏิบัติการตามที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด

 

(ช) ผู้ป่วยต้องได้รับการบริการ ตรวจวินิจฉัย ดูแลรักษาจนเต็มขีดความสามารถของสถานพยาบาลนั้น หากมีความจำเป็นต้องส่งต่อ ผู้ประกอบวิชาชีพต้องให้การรับรองว่าการส่งต่อผู้ป่วยจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาของผู้ป่วยนั้น

 

(2) สถานพยาบาลประเภทที่ไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน

 

(ก) จัดให้ผู้ป่วยสวมหน้ากากอนามัย และดำเนินการใด ๆ อันจะมีผลเป็นการควบคุม ระงับ หรือบรรเทาอันตรายจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19(CoronavirusDisease 2019(COVID-19)) อย่างทันท่วงทีตามสมควรแก่กรณี

 

(ข) จัดให้มีบริเวณเพื่อรองรับผู้ป่วยแยกกับผู้ป่วยทั่วไป

 

(ค) แจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ

 

(ง) แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลอื่นที่มีศักยภาพ ทั้งนี้ ตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดการตรวจวินิจฉัย ดูแลรักษาผู้ป่วย ให้เป็นไปตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด

 

ข้อ 6 ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการของสถานพยาบาล มีหน้าที่ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19(Coronavirus Disease 2019(COVID-19)) ในสถานพยาบาล ทั้งนี้ ตามข้อแนะนำแนวปฏิบัติการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019(COVID-19)) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด

 

หมวด 2 การระดมทรัพยากรและมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเยียวยา

 

ข้อ 7 ให้ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการของสถานพยาบาลจัดหาทรัพยากรด้านบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ ยาและเวชภัณฑ์ ยานพาหนะให้เพียงพอและพร้อมต่อการช่วยเหลือผู้ป่วยตามขีดความสามารถของสถานพยาบาล การระดมทรัพยากรในการช่วยเหลือเยียวยา ให้สถานพยาบาลสามารถดำเนินการช่วยเหลือได้เต็มตามศักยภาพสูงสุดของสถานพยาบาลนอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย

 

ข้อ 8 ในกรณีได้รับการประสานความร่วมมือเกี่ยวกับการช่วยเหลือเยียวยาผู้ป่วยจากสถานพยาบาลภาครัฐ สถานพยาบาลเอกชนหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการของสถานพยาบาลต้องให้ความร่วมมือและจัดให้มีการช่วยเหลือเยียวยาผู้ป่วยเพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและขีดความสามารถของสถานพยาบาล

 

หมวด 3 การจัดให้มีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลอื่น

 

ข้อ 9 เมื่อให้การช่วยเหลือเยียวยาผู้ป่วยตามหมวด 1 แล้ว ถ้ามีความจำเป็นต้องส่งต่อ หรือผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยมีความประสงค์จะไปรับการรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลอื่น ผู้รับอนุญาต และผู้ดำเนินการของสถานพยาบาลต้องจัดการให้มีระบบการส่งต่อไปยังสถานพยาบาลอื่นตามความเหมาะสม โดยมีระบบป้องกันการติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อระหว่างการส่งต่อผู้ป่วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข หรือแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด

 

ประกาศ ณ วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2563

 

อนุทิน ชาญวีรกูล

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

 

matemnews.com 

4 มีนาคม 2563