นายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงแก่ผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2561 ว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคให้ตรวจสอบการโฆษณาผลิตภัณฑ์ “แมรี่ เพรียว” (Marry Peaw) พบว่ามีการโฆษณาอ้างสรรพคุณเกินจริงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ จึงได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า มีการการโฆษณาผลิตภัณฑ์อ้างสรรพคุณลดน้ำหนักเผยแพร่ผ่านทางเฟซบุ๊กชื่อ “ผู้หญิงอย่าหยุดสวยอยาก ผอม ทักมา” และต่อมามีการเปลี่ยนชื่อเฟซบุ๊กเป็น “จี๊ดถึงจัยมะนาวหวาน”
โดยมีการแสดงข้อความในทำนองช่วยลดน้ำหนักตอบโจทย์ทุกปัญหา “ความอ้วน” เปลี่ยนหุ่นเสียให้เป็นหุ่นสวย ซึ่งข้อความเหล่านี้เป็นการโฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต และโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์มีโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท และ อย. ได้สั่งระงับการโฆษณาแล้ว นอกจากนี้ ยังพบว่าผลิตภัณฑ์ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาให้ถูกต้องกับ อย. มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือ ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างด้าเนินคดีกับผู้กระทำผิด
ดังนั้น จึงขอเตือนภัยสาวอยากผอมพึงระวัง อย่าตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อคารมการโฆษณาจากผู้ขายโดยเด็ดขาด นอกจากจะไม่ได้ช่วยให้น้ำหนักลดลงแล้ว ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพในหลายๆ ด้านอีกด้วย โดยยาลดความอ้วนส่วนใหญ่ ออกฤทธิ์ลดความอยากอาหาร เป็นยาที่กระตุ้นประสาทส่วนกลาง การใช้จะทำให้น้ำหนักลดลงได้ขณะรับประทานยา แต่น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อหยุดยา หรือที่เรียกว่า “yo-yo effect” และผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่พบบ่อย คือ นอนไม่หลับ เวียนศีรษะ วิตกกังวล ตาพร่า หากใช้ติดต่อกันนาน อาจท้าให้ติดยาได้ดังนั้น การใช้ยาเพื่อลดความอ้วน ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเท่านั้น อย่าซื้อยามารับประทานเอง เพราะนอกจากจะสิ้นเปลืองเงินแล้วยังอาจได้รับอันตรายจากการปนเปื้อนยาหรือสารอันตราย ที่ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
นายแพทย์พูลลาภ กล่าวอีกว่า ผู้ที่อยากหุ่นสวยดูมีน้ำมีนวล ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารและควบคุมอาหาร ไม่กินอาหารพร่ำพรื่อ ไม่กินจุบกินจิบ ควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหาร หวาน มัน เค็ม รวมทั้งออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พร้อมเตือนผู้ขายยาลดความอ้วนผ่านสื่อทุกช่องทาง ถือเป็นการกระท้าที่ผิดกฎหมาย หากตรวจพบจะถูกดำเนินคดีทันที
ผู้บริโภคที่ได้รับอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ แจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือที่ E-mail: 1556@fda.moph.go.th หรือ ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ
matemnews.com 28 เมษายน 2561