นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย และเป็น อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) สมัยรัฐบาลทักษิณ 2 ได้ไปที่สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ เมื่อตอนเช้าวันที่ 9 พ.ค.2561 ตามที่ อัยการสำนักงานปราบปรามการทุจริต นัดไว้ให้รับทราบคำสั่งฟ้อง และนำตัวยื่นฟ้องคดีทุจริต การอนุมัติโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ ตามความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ กรณีเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการเอกชนในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ 3 ข้อหา คือ จัดทำทีโออาร์ใหม่เอื้อประโยชน์เอกชน มีการเรียกรับประโยชน์ มีการรับประโยชน์โครงการบ้านเอื้ออาทร 7 โครงการ 7,500 ยูนิต ทำให้รัฐเสียหายกว่า 2,500 ล้านบาท
นายวัฒนา ให้สัมภาษณ์นีกข่าวก่อนเข้าพบอัยการ ว่า เตรียมเวินประกันตัวไว้ 2 ล้านบาท ตามที่ศาลเคยประเมินไว้ในคดีอื่น ขอยืนยันว่าคดีนี้เป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ข่มขู่มาตั้งแต่ปี 2558 เพื่อทำลายในทางการเมือง และคดีนี้ก็เกิดหลังรัฐประหารปี 2549 เป็นการตั้งคดีเพี่อสร้างความชอบธรรมในการยึดอำนาจคราวนั้น โดยคดีค้างอยู่เป็นเวลานานแล้ว ถือเป็นเรื่องดีที่มีการส่งฟ้องจะได้ได้ข้อยุติ ตนไม่มีความเชื่อถือต่อกระบวนการยุติธรรมขั้นต้นทั้งการทำงานของ ป.ป.ช. และอัยการ ที่ใช้เวลาในการไต่สวนคดีกว่า 12 ปี แต่ยังหวังพึ่งการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง ตนจะสู้คดีจนถึงที่สุด ไม่หนีคดี เพราะคดีนี้ไม่ได้มีความซับซ้อน สามารถชี้แจงได้ทุกประเด็น เช่น
ข้อกล่าวที่ว่ามีการเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ประกอบการหน่วยละ 11,000 บาท กลางที่ประชุม ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
ข้อกล่าวหาที่ว่า กำหนดทีโออาร์เอื้อประโยชน์แต่กลับไมมีการดำเนินคดีใด ๆ กับผู้ว่าการเคหะฯกับบอร์ดการเคหะที่เป็นผู้ปฏิบัติ กลับดำเนินคดีกับตนเพียงแค่คนเดียว อีกทั้งประชาชนมีความต้องการโครงการนี้ และโครงการนี้ก็ขายหมด รัฐไม่มีความเสียหายใด ๆ
โครงการบ้านเอื้ออาทรเป็นโครงการที่ขายหมด การเคหะฯ ไม่ได้รับความเสียหายใดๆ ประชาชน มีความต้องการ แต่ว่ามันเป็นเรื่องการเมือง คือ ต้องทำลาย เพื่อ Justify การยึดอำนาจ
คดีนี้ ในสมัยที่นายวัฒนาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในปี 2548 โดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) สมัยรัฐประหารของ พล.อ.สนธิ บุฯยรัตกลิน ได้ตรวจสอบพบว่ามีการทุจริตจึงส่งให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีอาญา ในวันที่ 30 มิ.ย. 2551 แต่ทางอัยการเห็นว่าสำนวนยังไม่สมบูรณ์จึงต้องตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง คตส.กับอัยการ แต่ยังไม่ทันได้ข้อยุติ คตส.ก็หมดวาระไปก่อน อัยการสูงสุดจึงส่งเรื่องกลับไปให้ ป.ป.ช.พิจารณาต่อ แต่ก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ เนื่องจากอัยการยังเห็นว่าสำนวนมีข้อไม่สมบูรณ์ จึงต้องตั้งคณะทำงานร่วมอีกครั้งระหว่างอัยการกับ ป.ป.ช.ใช้เวลานานกว่า 10 ปี ก่อนที่อัยการจะนำตัวนายวัฒนาส่งฟ้องในวันนี้ 9 พ.ค.2561 3 ข้อหาได้แก่
1.เป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้ซึ่งทรัพย์สินแก่ตนเองหรือผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 100,000–400,000 บาท หรือประหารชีวิต
2.เป็นเจ้าพนักงานฯ เรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบเพื่อกระทำการในตำแหน่งโดยไม่ชอบฯ ตามมาตรา 149 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 100,000 – 400,000 บาท หรือประหารชีวิต
3.เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามมาตรา 157 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1–10 ปีหรือปรับตั้งแต่ 20,000–200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
matemnews.com
9 พฤษภาคม 2561