http://www.thaigov.go.th
นายกรัฐมนตรีแนะให้ขยายการดำเนินการจัดการขยะที่รักษาสิ่งแวดล้อมของชุมชน ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีรับฟังบรรยายสรุปการบริหารจัดการการกำจัดขยะในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเป็นโครงการนำร่องการพัฒนารูปแบบของการดำเนินการจัดการขยะ ที่รักษาสิ่งแวดล้อมของชุมชน
วันนี้ (7 ส.ค. 60) เวลา 09.20 น. ณ ศูนย์การเรียนรู้บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีรับฟังบรรยายสรุปการบริหารจัดการการกำจัดขยะในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเป็นโครงการนำร่องการพัฒนารูปแบบของการดำเนินการจัดการขยะที่รักษาสิ่งแวดล้อมของชุมชน โดยใช้พื้นที่ราชพัสดุ จำนวน 372 ไร่ 2 งาน 29 ตารางวา ใช้งบประมาณในการดำเนินงานของกระทรวงมหาดไทย จำนวน 368 ล้านบาท ก่อสร้างระบบฝังกลบขยะมูลฝอยอย่างถูกหลักวิชาการและขนย้ายขยะสะสม จำนวน 2 แสนตัน
กระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ปรึกษาการแปรรูปขยะมูลฝอยเป็นพลังงานตามโครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอย ด้วยเทคโนโลยีผลิตขยะเป็นเชื้อเพลิงและก่อสร้างระบบผลิตไฟฟ้าจากการกำจัดขยะด้วยเทคโนโลยีการเผา กำลังการผลิตไฟฟ้า ขนาด 3.8 เมกกะวัตต์ สำหรับแนวทางการบริหารจัดการขยะมูลฝอยแบบครบวงจรของจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีดังนี้ การกำจัดขยะต้นทาง ได้แก่ 1. การสร้างจิตสำนึกและวินัยในการจัดการขยะมูลฝอยให้แก่นักเรียนและเยาวชนให้สถานศึกษาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม 2. การรณรงค์ประชาสัมพันธ์และฝึกอบรมให้ความรู้ สร้างความตระหนักและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการลดคัดแยกขยะมูลฝอยที่ต้นทาง โดยใช้หลัก 3R ลดการใช้ และคัดแยกของเสียอันตรายจากชุมชน การจัดการขยะกลางทาง ได้แก่ 1. การส่งเสริมการนำกลับไปใช้ประโยชน์ เช่น การทำน้ำหมักชีวภาค 2. การคัดแยกและเก็บขนขยะแต่ละประเภทนำไปกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ การกำจัดขยะมูลฝอยปลายทาง ได้แก่ 1. กำจัดขยะมูลฝอยอย่างครบวงจร มีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์สูงสุด โดยการแปรรูปขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงและผลิตพลังงาน 2. เป็นศูนย์รวบรวมของเสียอันตรายจากชุมชน 3. ติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม
สำหรับการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มุ่งมั่นบริหารจัดการและพัฒนาพื้นที่มุ่งสู่คุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบของประเทศ สร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ควบคู่กับอยุธยาเมืองมรดกโลกเป็นสวนป่ากลางเมือง ใช้สอยประโยชน์ร่วมกัน เป็นสวนป่าประชารัฐเพื่อความสุขของคนไทยใช้พักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกาย โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นบ่อฝังกลบขยะมูลฝอย จำนวน 132 ไร่ พื้นที่ปลูกป่า 80 ไร่ โรงไฟฟ้า 73 ไร่ และบ่อบำบัดน้ำเสีย เก็บกักน้ำจำนวน 10 ไร่
ภายหลังรับฟังบรรยายสรุปนายกรัฐมนตรีกล่าวตอนหนึ่งว่า การบริหารจัดการขยะจะต้องมีการจัดทำแผนแม่บทบริหารจัดการขยะทั้งประเทศ ซึ่งวันนี้ถือเป็นสิ่งที่ดีที่ได้มีการนำร่องรูปแบบการดำเนินการจัดการขยะที่รักษาสิ่งแวดล้อมของชุมชน ต้องขยายการดำเนินการออกไปให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคและทุกพื้นที่เพื่อสร้างแผนบริหารจัดการจัดขยะ ให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ทุกภาคส่วน ภาครัฐ เอกชน และประชาชนต้องร่วมมือกันจึงจะประสบความสำเร็จ รวมถึงภาครัฐต้องสร้างแรงจูงใจให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขยะ โดยออกมาตรการจูงใจต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันปัญหาขยะถือเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศ ต้องแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับพื้นที่ โดยเฉพาะขยะอุตสาหกรรมต้องมีวิธีการบริหารจัดการที่เหมาะสม รวมถึงปัญหาขยะในครัวเรือนจะต้องแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทาง คือการคัดแยกขยะ พร้อมกับสร้างจิตสำนึก สร้างการรับรู้ ปลูกฝังตั้งแต่เด็กให้เกิดความเคยชินในการคัดแยกขยะ และนำขยะที่คัดแยกไปรีไซลเคิลในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อไป
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
Matemnews.com 7 สิงหาคม 2560