กรุงเทพมหานคร ๑๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๑ – วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร หรือ วัดโพธิ์ จัดเป็นพระอารามหลวงคู่กรุงรัตนโกสินทร์ที่มีอายุยาวนานมากกว่า ๒๓๐ ปี ที่ล่าสุดได้ผสานความร่วมมือกับ มูลนิธิ ทุนพระพุทธยอดฟ้าในพระบรมราชูปถัมภ์ และ มูลนิธิสิริวัฒนภักดี เพื่อเตรียมจัด งาน “สมโภชพระอาราม ๒๓๐ ปี วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร” ๒๓๓๑-๒๕๖๑ The Grand Festival Commemorating The 230th Anniversary of Wat Phra Chetuphon (Wat Pho) ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ ๑-๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ตั้งแต่เวลา ๑๐.๐๐-๒๒.๐๐ น. พร้อมเชิญชวนพุทธศาสนิกชน นักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทย และต่างชาติ ร่วมย้อนรอยประวัติศาสตร์แห่งอารยธรรม ๒๓๐ ปี และความศักดิ์สิทธิ์ของ “วัดโพธิ์” ร่วมแต่งกายชุดไทย “ย้อนยุคกรุงรัตนโกสินทร์” เพลิดเพลินใจไปกับมหรสพ และการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมแบบชาววังที่หาชมได้ยาก ท่ามกลางบรรยากาศงานวัด ร่วมสมัย เฉลิมฉลองที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่สุดอันดับ ๑ ในประเทศไทย อันดับ ๓ ของเอเชีย และอันดับ ๑๗ ของโลก
เกี่ยวกับการสมโภชพระอารามดังกล่าว ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า
“นับเป็นเรื่องน่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร หรือ วัดโพธิ์ จะจัดงานสมโภชพระอาราม ๒๓๐ ปี อย่างยิ่งใหญ่ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพราะวัดโพธิ์ถือเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกแห่งราชวงศ์จักรี เป็นวัด คู่พระบรมมหาราชวัง และเป็นประจำทุกปีที่พระมหากษัตริย์ในทุกๆ พระองค์จะเสด็จยังวัดโพธิ์เพื่อถวายผ้าพระกฐินที่พระอารามแห่งนี้ ตามโบราณราชประเพณี ถ้าใครที่เคยมาวัดโพธิ์จะทราบถึงความงามในทุกมิติ คือ พูดง่าย ๆ ว่า มองมุมไหนของวัดก็มีความวิจิตรตระการตาไปหมด นอกจากความสวยงามแล้ว เรื่องราวที่ถูกบันทึกไว้บนแผ่นศิลาภายในวัด คือ ศาสตร์ความรู้แขนงต่างๆ ตั้งแต่ครั้งโบราณ ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่มีการรวบรวมและบันทึกไว้ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ ศาสนา การเมืองการปกครอง การแพทย์ สาธารณสุข และที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอย่างดี ก็คือ การนวดวัดโพธิ์ มีการบันทึกเรื่องราวไว้อย่างครบถ้วน ถือเป็นมรดกไทยที่ทรงคุณค่าแก่การเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง”
ด้าน นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ในนามมูลนิธิสิริวัฒนภักดี และไวยาวัจกรวัดพระเชตุพน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า
“การจัดงานสมโภชพระอารามครั้งนี้ ถือเป็นการย้อนรอยประวัติศาสตร์สำคัญของการสถาปนาวัดตั้งแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนาวัดขึ้นมาอย่างที่เราทราบกันดีว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร หรือ วัดโพธิ์ เป็นพระอารามหลวงที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง ดังนั้นพุทธสถานแห่งนี้จึงมีความสำคัญและมีความสวยงามตระการอย่างยิ่ง โดยในงานสมโภชพระอาราม ๒๓๐ ปี ที่จัดขึ้นครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการเชิญชวนให้พุทธศาสนิกชน และนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาร่วมเฉลิมฉลองความเป็นมรดกพุทธ มรดกโลก ที่ถูกจัดอันดับให้เป็นสถานที่สำคัญอันดับ ๑๗ ของโลกแล้ว ยังได้ร่วมเสริมความเป็นสิริมงคล ด้วยการทำบุญไหว้พระ สักการะพระพุทธไสยาสน์ ที่งดงามที่สุดในโลก สักการะพระพุทธเทวปฏิมากร ชมความงามของพระมหาเจดีย์ ๔ รัชกาล
ต้นตำรับนวดแผนไทยวัดโพธิ์ นิทรรศการ ๒๓๐ ปี ความทรงจำโลก เที่ยวชมจารึกวัดโพธิ์ มรดกความทรงจำแห่งโลกจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ร่วมตักบาตรสตางค์ ห่มผ้าองค์พระ ๒๓๐ องค์ รอบพระระเบียงพระอุโบสถ และพิธีเจริญพระพุทธมนต์สวดนพพระเคราะห์ อันเป็นอานิสงส์อย่างสูงสุด นอกจากนี้ยังได้ร่วมชมการละเล่นย้อนยุค และการแสดงต่าง ๆ อีกมากมาย
และนอกเหนือจากการแสดงทางวัฒนธรรมที่หาชมได้ยากแล้ว นักท่องเที่ยวยังจะได้เที่ยวชม และตื่นเต้นไปกับงานศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ “Bangkok Art Biennale 2018” ครั้งแรกของกรุงเทพมหานครที่จะถูกเนรมิตให้กลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวด้านศิลปวัฒนธรรมระดับโลก ด้วยการนำชิ้นงานของศิลปินชื่อดังระดับโลก มาจัดแสดงไว้ที่วัดโพธิ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ อีกด้วย”
ทั้งหมดนี้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมของการจัดงานสมโภชพระอาราม ๒๓๐ ปี ของวัดโพธิ์ ที่จะมีขึ้นในวันที่ ๑-๑๑ พฤศจิกายนนี้ เพื่อเป็นการจารึกประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของสถานที่สำคัญอันเป็นมรดกของชาวไทยสู่การเป็นมรดกโลก ให้บรรดาพุทธศาสนิกชน และนักท่องเที่ยวจะได้เพลิดเพลินใจไปกับการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมมากมาย ที่จะสร้าง ความประทับใจแบบไม่รู้ลืม อาทิ
- การแสดงและสาธิตการละเล่นของหลวง ที่ปรากฏอยู่ในจารึกวัดโพธิ์ อาทิ กุลาตีไม้ โมงครุ่ม
- การแสดงฤาษีดัดตน ระบำแม่ซื้อ รำฉุยฉายพราหมณ์ ตำนานท่าเตียน โขน จำอวดหน้าม่าน การบรรเลงวงเครื่องสาย การแสดงลำตัดคณะแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ การแสดงกระบี่กระบองจากสำนักดาบดาบพุทสวรรย์ระบำวิชนี การแสดงวงดนตรีลูกทุ่ง จีนรำพัด การแสดงสิงโต ออกแขก ๑๒ ภาษา การแสดงลิเก
- การเสวนา ในช่วงเวลา ๑๗.๓๐ – ๑๘.๓๐ น. ของทุกวันตลอดการจัดงาน อาทิ หัวข้อ กำเนิดรามเกียรติ์
ภาพสลักรามเกียรติ์ที่พนักรอบพระอุโบสถ ภาพจับรามเกียรติ์ที่หอพระไตรข้างตำหนักวาสุกรี โครงภาพคนต่างภาษา เรื่องรามเกียรติ์บานประตูประดับมุกพระอุโบสถ ลายรดน้ำเรื่องรามเกียรติ์ที่ ตู้พระธรรม ภาพจับจำหลักไม้หน้าบันพระวิหารคด และการแสดงการพื้นบ้านสืบสานวัฒนธรรมอีกมากมาย เรียกว่างานนี้ นอกจากพุทธศาสนิกชน และนักท่องเที่ยวจะได้อิ่มบุญ อิ่มใจ ไปกับการสัมผัสกับอารยธรรม และประวัติศาสตร์อันยาวนานแห่งการเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างแล้ว ยังได้ร่วมฉลองสมโภชพระอาราม ๒๓๐ ปี เพื่อบอกเล่าความเป็นไทยไปทั่วโลกอีกด้วย