นายปิ่นสาย สุรัสวดี โฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย และตัวแทนจากธนาคารพาณิชย์ ถึงแนวทางการเก็บภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ ว่า ในสัปดาห์หน้า กรมสรรพากรเตรียมจะออกประกาศยกเว้นการเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ไม่เกิน 20,000 บาทใหม่เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับผู้ฝากเงินส่วนใหญ่
สำหรับประกาศฉบับใหม่นี้ กรมสรรพากรจะใช้อำนาจให้ธนาคารพาณิชย์ส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ทุกบัญชี มาให้กรมสรรพากร เพื่อประมวลผลว่าผู้ฝากเงินรายใดมีรายได้จากดอกเบี้ยเงินฝากเกิน 20,000 บาท หลังจากนั้นจะส่งข้อมูลกลับไปให้ธนาคารพาณิชย์ทำการหักภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ 15% ให้แก่กรมสรรพากร
ทั้งนี้ หากเจ้าของบัญชีเงินฝากรายใดที่ไม่ประสงค์จะให้ธนาคารพาณิชย์นำส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากให้แก่กรมสรรพากรนั้น สามารถแจ้งกับธนาคารพาณิชย์ได้ แต่ทางธนาคารเจ้าของบัญชีจะหักภาษีดอกเบี้ยเงินฝากในอัตรา 15% ให้แก่กรมสรรพากร และหากผู้ฝากเงินเห็นว่าไม่มีภาระดอกเบี้ยเงินฝากต้องเสียภาษี ก็ให้มาขอยื่นคืนภาษีตอนสิ้นปีภาษีได้
“การหารือร่วมกันครั้งนี้ ธปท.ชี้แจงว่า หากกรมสรรพากรมีฐานอำนาจที่สามารถสั่งการให้ธนาคารพาณิชย์ส่งข้อมูลลูกค้าสามารถทำได้ ดังนั้นผู้ฝากเงินบัญชีออมทรัพย์ 80 ล้านบัญชี ไม่ต้องทำอะไรเลย ให้อยู่เฉยๆ เหมือนเดิมก็จะได้รับการยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินฝากหากรวมแล้วไม่เกิน 2 หมื่นบาท เพราะธนาคารพาณิชย์จะส่งข้อมูลมาให้กรมสรรพากรประมวลผลเอง”
สำหรับการนำส่งข้อมูลบัญชีเงินฝากของลูกค้าธนาคารพาณิชย์ให้กับกรมสรรพากร จะเริ่มดำเนินการในเดือน พ.ค.และเดือนพ.ย.ของทุกปี เพื่อที่กรมสรรพากรจะได้ประมวลผลและส่งให้ธนาคารพาณิชย์เก็บภาษีดอกเบี้ยผู้ที่มีรายได้จากดอกเบี้ยเกิน 20,000 บาท ในเดือน มิ.ย.และเดือนธ.ค.ของทุกปี โดยบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ทั้งระบบมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 80 ล้านบัญชี มีสัดส่วนไม่ถึง 1% ที่มีภาระต้องเสียภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ในส่วนที่เกิน 20,000 บาท