เมื่อตอนบ่ายวันที่ 21 พ.ค.2562 กรมการแพทย์ มีการหารือร่วมกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ถึงการบริหารจัดการ “น้ำมันกัญชา” ที่ อภ.ผลิตขึ้นล็อตแรก จำนวน 2,500 ขวด ขนาด 5 มิลลิลิตร จะนำไปใช้กับผู้ป่วยอย่างไร มีระบบติดตามและควบคุมอย่างไร หลังหารือแล้ว นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ แถลงข่าวว่า
“การผลิตน้ำมันกัญชาของ อภ.มีจำนวนหนึ่ง ไม่สามารถใช้กับผู้ป่วยทุกคนได้ ข้อสรุป คือ สถานพยาบาลที่จะใช้น้ำมันกัญชา จะต้องขออนุญาตกับ อย.ก่อน ส่วนการนำมาใช้กับผู้ป่วยต้องเป็นผู้ป่วยที่มีความจำเป็นจริงๆ โดยพิจารณาว่าเข้าเกณฑ์ที่ต้องรักษาด้วยกัญชาหรือไม่ เช่น ใช้ยาหรือผ่าตัดแล้วไม่ได้ผล เป็นต้น น้ำมันกัญชาที่ผลิตแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มี THC สูง CBD สูง และสัดส่วนหนึ่งต่อหนึ่ง โดยส่วนของน้ำมันกัญชาที่มีซี CBD สูง เบื้องต้นจะใช้ในกลุ่มผู้ป่วยลมชักในเด็ก โดยรูปแบบการจัดการและหลักเกณฑ์ในการใช้ จะมีสถาบันประสาทวิทยาเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อเป็นรูปแบบตัวอย่างของโรงพยาบาลอื่นต่อไป ส่วนน้ำมันกัญชาที่มีสัดส่วนสารหนึ่งต่อหนึ่ง มีแนวโน้มจะใช้ในผู้ป่วยประคับประคอง โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และโรงพยาบาลมะเร็ง 7 แห่ง ขณะที่ THC สูงยังต้องหารือเพิ่มเติม
พญ.อาภาศรี ลุสวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กุมารประสาทวิทยา สถาบันประสาทวิทยา แถลงว่า การใช้น้ำมันกัญชาที่มีสาร CBD สูง หรือ CBD 99% ในผู้ป่วยโรคลมชักในเด็ก มีผลการศึกษาว่า ใช้ได้ผลดีกับกลุ่มอาการชักรักษายาก คือ ชักเกร็งกระตุกทั้งตัวอย่างรุนแรง และชักแบบผงกหัวทำให้หัวแตกได้ ซึ่งจากการคำนวณแล้วผู้ป่วยโรคลมชักในเด็กทั้งประเทศมีความชุกประมาณ 25,000 ราย โดย 2 กลุ่มอาการนี้มีอยู่ประมาณ 10% หรือประมาณ 2,500 ราย แต่ CBD หรือน้ำมันกัญชาที่มี CBD สูงของ อภ.เป็นเพียงส่วนหนึ่งของจำนวน 2,500 ขวดเท่านั้น การเลือกให้ CBD กุมารประสาทวิทยาที่อยู่ในทุกโรงพยาบาลรัฐและโรงเรียนแพทย์ ซึ่งมี 37 แห่ง ภายใต้สมาคมกุมารประสาทวิทยาประเทศไทย จะมีการหารือตกลงกันถึงการเลือกเคสว่า แบบไหนถึงจะควรได้รับ CBD ในการรักษา เช่น ได้รับยากันชักไปแล้ว 6-7 ตัวก็ยังไม่หาย เป็นต้น และเบื้องต้นอยากให้แต่ละโรงพยาบาลดูแลประมาณไม่เกิน 10 เคส
matemnews.com
21 พฤษภาคม 2562