เฟชบุ้ค ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ข้อเสนอต่อรัฐบาลใหม่จากการเสวนา “เดินเพื่อผู้ป่วย กัญชารักษาโรค” ศาลากลาง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี
- ความเร่งด่วนสุด ขอตรวจกัญชาอัดแท่งของกลาง จากหลายหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนที่อ้างว่ามีการปนเปื้อนสารพิษนั้น ขอให้มีการตรวจสอบทุกชิ้นจากทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม และมีปริมาณสารปนเปื้อนเท่าไหร่ เมื่อสกัดเป็นน้ำมันแล้วเหลือเท่าไหร่ เกินมาตรฐานหรือไม่?
หากมีสารปนเปื้อนเกินมาตรฐาน ก็ให้ระบุว่าหากสามารถนำมาเจือจางตามสูตรของ อาจารย์เดชา ศิริภัทรแล้ว ยังเกินมาตรฐานหรือไม่ หรือหากผสมน้ำมันมะพร้าวแล้วจะต้องผสมในสัดส่วนอีกเท่าไหร่ เพื่อทำให้สารพิษของ “ผลิตภัณฑ์สุดท้าย” ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคไม่เกินมาตรฐาน ไม่ต้องเผาทำลายกัญชาทิ้งหมดเพื่อใช้เป็นข้ออ้างว่าไม่เพียงพอ แล้วต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
2.ระยะเร่งด่วนขอให้ปลดล็อกทั้งกระท่อมและกัญชง ออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษโดยทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กัญชง” หรือ พืชในกลุ่ม “กัญชาที่มีสารสำคัญเกือบทั้งหมดเป็น CBD” ให้พ้นจากบัญชียาเสพติดโดยทันที แล้วสามารถนำมาใช้ประโยชน์ไม่เพียงแต่ยารักษาโรคเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอาหารเสริม และอาหารอื่นๆด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กัญชง” ซึ่งภาครัฐในหลายจังหวัดได้ผูกขาดในการเพาะปลูกเพื่อนำใยไฟเบอร์มาเป็นใยผ้า ให้ขยายขอบเขตมาถึงการขยายระยะเวลาเพาะปลูกให้มีดอกแล้วให้ภาครัฐมาผลิตสาร CBD ได้โดยทันที โดยไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
- เมื่อมีความห่วงใยใช้ข้ออ้างว่ากัญชามีอันตรายเพราะมีสารพิษปนเปื้อน จำเป็นต้องมีการแก้ไขที่ “ต้นเหตุ” ด้วยการเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการยกเลิก ไกลโฟเสท พาราควอต และสารพิษอื่นๆ เพื่อไม่ให้สารพิษปนเปื้อนเฉพาะกัญชาเท่านั้น แต่ทำให้หยุดการปนเปื้อนสารพิษในผัก ผลไม้ และพืชที่เป็นอาหารทุกชนิด
- นโยบายเร่งด่วน อาศัยอำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้อนุมัติให้ “น้ำมันกัญชาแบบไม่แยกส่วนสารสำคัญออกมา” เป็น “ยาแผนโบราณ” เช่นเดียวกับยาสมุนไพรเดี่ยว ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร ฯลฯ เช่นเดียวกับวิธีการสกัดแบบไม่แยกส่วนในวิธีการสมัยใหม่ที่มีการพัฒนามากขึ้น เช่น กลีเซอรีนพญายอ หรือ สมุนไพรที่ใส่แคปซูล ฟรีซดราย์ ซึ่งได้ถูกขึ้นทะเบียนป็นยาแผนโบราณแล้วทั้งสิ้น
การกำหนดให้ “น้ำมันกัญชาแบบไม่แยกส่วนสารสำคัญออกมา” เป็นยาแผนโบราณ ทำให้สามารถ”ใช้ในมนุษย์ได้ทันที” โดยไม่ต้องเร่ิมทดลอง สัตว์ทดลอง หรือการทดลองในมนุษย์เหมือนการสกัดสารสกัดเคมีในรูปแบบของยาแผนปัจจุบัน แล้วให้ความรู้แพทย์และผู้ที่ใช้ในปริมาณยาที่เหมาะสมเพื่อลดผลข้างเคียงต่อไป เช่นเดียวกับสมุนไพรทุกชนิด ซึ่งต้องใช้เวลาอีกหลายๆปี แล้วนำความรู้จากวิทยาศาสตร์ยุคใหม่มาพัฒนาพันธุ์พืชเพื่อการเน้นสัดส่วนสารสำคัญที่ไม่เหมือนกันเพื่อพัฒนาปรุงตำรับยาในที่ไม่เหมือนกัน
- กำหนดให้ผู้ป่วยสามารถเพาะปลูก “กัญชา”ได้ตามจำนวนที่กำหนด เมื่อมีใบรับรองแพทย์
สถานพยาบาล มหาวิทยาลัย ทั้งรัฐและเอกชนสามารถได้รับใบอนุญาตในการเพาะปลูกได้ สกัดได้ และจำหน่ายได้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ หรือหากไม่มีพื้นที่เพาะปลูกก็สามารถร่วมกับวิสาหกิจชุมชนในการเพาะปลูกเพื่อสถานพยาบาลและสถาบันอุดมศึกษาได้
เช่นเดียวกับ “หมอพื้นบ้าน” ที่มีการส่วนร่วมของชุมชน เช่น โมเดลของ อ.เดชา ศิริภัทร สามารถปลูกร่วมกับวัดและวิสาหกิจชุมชน เพื่อร่วมกันดูแลในการใช้ประโยชน์กัญชาในทางการแพทย์ได้
และสามารถให้ใบอนุญาตเอกชนหรือรัฐหรือวิสาหกิจชุมชนสามารถปลูกเพื่อการส่งออกทางการแพทย์ได้ (ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการปลูกแบบมาตรฐานยาสากล)
และหากใครดำเนินการปลูกกัญชาผิดวัตถุประสงค์ก็ให้ยึดใบอนุญาตนั้นเสีย แทนการผูกขาดทุกอย่างอยู่กับภาครัฐ (ซึ่งจะทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงได้มากขึ้น)
- ในระยะยาวแล้วจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายให้นำกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ แล้วนำมาเป็นพืชควบคุม เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการพทย์ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเพาะปลูกเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์อย่างแท้จริง
- ให้ยาที่ทำจากกัญชาเข้าสู่โครงการหลักประกันถ้วนหน้า ที่ประชาชนทุกหมู่เหล่าสามารถได้รับสวัสดิการเป็นเข้าถึงกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลังรังสิต
8 มิถุนายน 2562
Matemnews.com
8 มิถุนายน 2562